ความปลอดภัยแบ่งเป็นสองประเภทนะครับ คือความรู้สึก และความเป็นจริง และมันไม่เหมือนกัน คุณรู้สึกถึงความปลอดภัยได้ แม้ว่าจริงๆไม่ได้เป็นเช่นนั้น และคุณก็ปลอดภัยได้ โดยไม่รู้สึกถึงมัน จริงๆแล้ว มันเป็นสองแนวคิดที่แยกออกจากกัน แต่ผนวกอยู่ในคำๆเดียว และสิ่งที่ผมอยากนำเสนอในวันนี้ ก็คือแยกมันออกจากกัน เพื่อดูว่าสองอย่างนี้แยกออก และรวมกันเมื่อไหร่ อย่างไร โดยในส่วนนี้ภาษาเองเป็นที่ปัญหา เพราะเรายังไม่มีคำที่สามารถสื่อความหมาย สำหรับสิ่งที่เรากำลังจะกล่าวถึงได้ดีนัก หากเราพูดถึงความปลอดภัย ในทางเศรษฐศาสตร์ มันคือการได้อย่างเสียอย่าง (trade-off) ทุกครั้งที่คุณได้มาซึ่งความปลอดภัย คุณมักจะแลกมาด้วยสิ่งที่คุณมี ตั้งแต่เรื่องการตัดสินใจส่วนตัว เช่น การที่คุณจะติดตั้งสัญญาณกันขโมยในบ้าน หรือจะเป็นการตัดสินระดับชาติ ว่าคุณจะรุกรานประเทศใด ล้วนต้องยอมเสียบางอย่างไปเพื่อแลกมาเสมอ เงินบ้างล่ะ เวลาบ้างล่ะ ความสะดวกสบาย สมรรถภาพ หรือเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และคำถามที่จะเกิดขึ้นในประเด็นด้านความปลอดภัย ไม่ใช่คำถามว่ามันทำให้เราปลอดภัยขึ้นหรือไม่ แต่กลับเป็นว่า คุ้มไหมที่ยอมเสียไปเพื่อให้ได้มา คุณคงเคยได้ยินว่าหลายๆปีที่ผ่านมา โลกของเราปลอดภัยขึ้น เพราะซัดดัม ฮุสเซ็นไม่ได้กุมอำนาจไว้แล้ว นั่นอาจจะจริง แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวโยงกันถึงขั้นนั้น คำถามคือ คุ้มค่าหรือเปล่า และคุณสามารถตัดสินใจด้วยตัวเอง และคุณก็จะตัดสินว่ามันคุ้มกับการรุกรานหรือเปล่า นั่นคือวิธีคิดเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย ในบริบทของการได้อย่างเสียอย่าง เอาล่ะ มันไม่ได้มีอะไรถูกหรือผิด บางท่านในที่นี้ติดตั้งสัญญาณกันขโมยในบ้าน บางท่านไม่ติด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าบ้านคุณตั้งอยู่ที่ไหน อยู่ตัวคนเดียว หรืออยู่กับครอบครัว มีของใช้ราคาแพงจำนวนมากน้อยขนาดไหน จะยอมรับกับความเสี่ยงที่โจรจะขึ้นบ้าน ได้มากน้อยขนาดไหน ทางการเมืองก็เช่นกัน มีความคิดเห็นหลากหลาย และบ่อยครั้งที่การได้อย่างเสียอย่าง เป็นมากกว่าแค่ความปลอดภัย และผมเชื่อว่ามันสำคัญมาก ทุกคนมีสัญชาตญาณ ในเรื่องการได้อย่างเสียอย่าง เพราะเราทำกันทุกวัน เช่น ตอนผมออกจากโรงแรมเมื่อคืน การที่ผมล็อกประตูสองชั้น การที่คุณขับรถมาที่นี่ หรือตอนที่เราไปกินอาหารเที่ยง เราเชื่อว่าอาหารไม่ได้เป็นพิษ เลยทานมันเข้าไป พวกเราแลกบางอย่างมาด้วยการเสียบางอย่างไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายๆครั้งในหนึ่งวัน เราไม่ค่อยรู้ตัวกันหรอก เพราะมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ทุกคนเป็นเหมือนกันหมด รวมไปถึงสัตว์ทุกสายพันธุ์ด้วย ลองนึกภาพกระต่ายน้อยกำลังกินหญ้าอยู่ในสวน และมันต้องเจอสุนัขจิ้งจอก ตอนนั้นแหละที่กระต่ายจำต้องสละบางอย่างเพื่อแลกกับความปลอดภัย ถามตัวเองว่า "จะกินต่อดี หรือ จะหนีดี?" และหากคุณลองคิดดูดีๆ กระต่ายที่ถ่วงดุลแล้วตัดสินใจเลือกทางที่ถูกต้อง มีแนวโน้มอยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อไป ในขณะที่กระต่ายที่ตัดสินใจผิด จะถูกกินหรือไม่ก็หิวโซ ทีนี้ คุณอาจจะคิดว่า สายพันธุ์มนุษย์ประเสริฐอย่างพวกเรา คุณ ผม และคนเราทุกคน คงเก่งเรื่องถ่วงดุลการได้อย่างเสียอย่างแบบนี้แน่ๆ ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น แต่ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่เราทำได้ไม่เข้าท่าเอามากๆ และผมคิดว่านั่นเป็นปัญหาพื้นฐานที่น่าสนใจทีเดียว ผมจะตอบสั้นๆนะครับ จริงๆแล้ว มนุษย์เราตอบสนองกับการรับรู้ถึงความปลอดภัย ไม่ใช่กับความเป็นจริง ทั้งนี้ โดยมากแล้วจะไม่เป็นปัญหา เพราะส่วนใหญ่ ความรู้สึกกับความเป็นจริงมันเป็นไปในทางเดียวกัน มันเป็นแบบนั้นจริงๆ สมัยก่อนประวัติศาสตร์มนุษยชาติ พวกเราล้วนได้พัฒนาศักยภาพนี้ เพราะมันเป็นผลดีกับวิวัฒนาการ คิดอีกแบบหนึ่ง ได้ว่า การที่เรามีความสามารถตัดสินใจในสถานการณ์เสี่ยงๆ ก็เพื่อเอื้อกับการดำรงชีวิต ในสภาพแวดล้อมที่ต้องใช้ชีวิตเป็นกลุ่มชนเล็กๆบนที่ราบสูง ในทวีปอัฟริกาฝั่งตะวันออกใน 100,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งต่างจากการชีวิตในนครนิวยอร์กในปี 2010 (พ.ศ.2553) ทีนี้ หลายๆครั้งที่การรับรู้ถึงภัยอันตรายเป็นไปแบบไม่สมเหตุสมผลนัก จากการทดลองหลายๆครั้ง แสดงให้เห็นว่าความไม่สมเหตุสมผลเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทีนี้ผมจะลองยกความไม่สมเหตุสมผลให้ฟังสัก 4 อย่างนะครับ พวกเรามักจะมีปฏิกิริยาเกินจริงกับภัยอันตรายที่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและไม่ค่อยเกิดขึ้น และลดความสำคัญของภัยอันตรายที่เกิดทุกวัน เช่นเลือกที่จะบินหรือขับรถ คนเรามักจะติดภาพว่าสิ่งแปลกปลอม ทำให้เกิดภัยมากกว่าสิ่งที่คุ้นเคย ตัวอย่างเช่น คนเรากลัวโดนคนแปลกหน้าลักพาตัวเด็กๆ ทั้งที่สถิติแสดงให้เห็นว่่าอัตราการลักพาตัวจากคนใกล้ชิดนั้นสูงกว่าเสียอีก ส่วนนี้หมายถึงเด็กๆนะครับ สาม เราจะรับรู้ภัยที่เกิดจาก บุคคลที่เป็นรูปธรรมได้มากกว่าภัยอื่นๆที่เกิดจากบุคคลนิรนาม ฉะนั้นบิน ลาเด็นก็น่ากลัวกว่าใครๆเพราะมีชื่อเสียงเรียงนาม และอย่างที่สี่ ผู้คนมักจะไม่ระวัง สถานการณ์ที่พวกเขามีอำนาจควบคุม และประเมินสถานการณ์ที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนควบคุมสูงกว่าที่ควรจะเป็น เช่น การโดดร่มหรือการสูบบุหรี่ พวกเขาประเมินความเสี่ยงต่ำไป หากภัยพุ่งเข้าหาคุณ เช่น กรณีก่อการร้าย คุณจะตอบสนองมากเกินกว่าที่ควร เพราะคุณรู้สึกว่ามันไม่ไ้ด้อยู่ในการควบคุมของคุณ มีอคติอื่นๆอีกนับไม่ถ้วนที่เป็น อคติทางการคิด (cognitive bias) ซึ่งมีผลกับการตัดสินใจของเรา ซึ่งก็มีวิทยการศึกษาสำนึก (heuristic) ที่ใช้ในเรื่องนี้ได้ หมายความว่า เราประเมินความเป็นไปได้ของสถานการณ์ใดๆ โดยการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เรานึกได้ ลองคิดดูว่ามันเป็นเช่นนั้นไหม ถ้าวันหนึ่ง คุณได้ยินเรื่องเสือทำร้ายใครเข้าบ่อยๆ คุณย่อมคิดว่ามีเสือหลายตัวป้วนเปี้ยนอยู่รอบๆ ในขณะที่หากไม่มีข่าวสิงโตทำร้ายใครเข้าหูคุณ คุณก็จะคิดว่าไม่มีสิงโตในแถบที่คุณอยู่ วิธีนี้ใช้การได้จนกระทั่งวันที่เราประดิษฐ์หนังสือพิมพ์ขึ้นมา เพราะหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ คือการบอกเล่าเรื่องเหลือเชื่อที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมบอกได้เลยครับ ถ้าเรื่องใดๆเป็นข่าวได้ ก็หมายความว่า เหตุการณ์นั้นไม่ค่อยได้เกิดขึ้นหรอกครับ ถึงได้เป็นที่พูดถึง (เสียงหัวเราะ) เพราะถ้าเหตุการณ์ไหนธรรมดาไป ก็จะไม่ถูกจัดว่าเป็นข่าว รถชน ความรุนแรงในประเทศ เป็นสิ่งที่มักเป็นที่กังวล อีกทั้งพวกเราเป็นสายพันธุ์ที่อยู่กับการบอกเล่าเรื่องราว พวกเราตอบสนองกับเรื่องราวมากกว่าข้อมูล รวมถึงเรื่องของจำนวนตัวเลข ผมว่ามุขตลกนับเลขที่ว่า "หนึ่ง" "สอง" "สาม" "เยอะแยะ" นั่นน่าจะถูกต้อง พวกเราตอบสนองกับตัวเลขแค่ไม่กี่หลัก เช่นมะม่วงหนึ่งลูก มะม่วงสองลูก สามลูก มะม่วง 10,000 ลูก 100,000 ลูก ยังมีมะม่วงเหลือไว้ทานอีกเยอะหากมันเน่าไปแล้ว ไหนจะครึ่งหนึ่ง หนึ่งส่วนสี่ หนึ่งส่วนห้า พวกเราเก่งเรื่องนั้น แต่หากเป็นหนึ่งในล้าน หรือหนึ่งในพันล้าน จำนวนนั้นจะแทบไม่มีตัวตนเลย ฉะนั้นเรามีปัญหากับภัยอันตราย ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นเป็นประจำ อคติทางการคิดพวกนี้ ทำหน้าที่กรองข้อมูลระหว่างเรากับความเป็นจริง ผลก็คือ ความรู้สึกกับความเป็นจริงก็แยกออก กลายเป็นคนละเรื่องกัน เราอาจจะรู้สึกถึงความปลอดภัยมากกว่าที่เป็นอยู่ สัมผัสถึงความปลอดภัยที่ไม่ได้มีอยู่จริง หรืออีกอย่าง สัมผัสไม่ถึงอันตรายที่มีอยู่จริง ผมเขียนเรื่องราวของ "โรงละครความปลอดภัย" มานับไม่ถ้วน มันคือผลิดภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัย ในขณะที่สิ่งเหล่านั้นแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย ไม่มีคำใดๆที่จะสื่อถึงสิ่งที่ทำให้เราปลอดภัย โดยที่ไม่ได้้ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นเช่นนั้น มันอาจจะเป็นสิ่งที่ซีไอเอ (CIA) ควรจะช่วยพวกเรา ทีนี้ เรากลับมาพูดถึงประเด็นเศรษฐศาสตร์ ถ้าเศรษฐศาสตร์ ถ้าระบบตลาดเป็นตัวกลางผลักดันความปลอดภัย หากผู้คนยอมแลกอย่างหนึ่งไปเพื่อให้ได้อีกอย่างมา โดยใช้ความรู้สึกปลอดภัยเป็นฐาน พวกบริษัทหัวใสก็จะสร้าง แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ ด้วยการทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความปลอดภัย ส่วนแนวทางนั้นมีอยู่สองทาง อย่างแรก คุณทำให้ลูกค้าปลอดจากภัยอันตรายจริงๆ และหวังว่าพวกเขาจะรับรู้ได้เอง หรือสอง คุณเพียงให้ลูกค้าวางใจว่าปลอดภัย และหวังว่าพวกเขาจะจับไม่ได้ ฉะนั้น ปัจจัยที่จะำให้พวกเขาจับได้ ก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง ความรู้ความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงปลอดภัย ในเรื่องความเสี่ยง ในเรื่องภัยคุกคาม ในเรื่องวิธีการรับมือ ว่าเป็นอย่างไร หากเราเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว ความรู้สึกที่ปลอดจากภัยนั้นๆก็จะค่อยๆมาควบคู่กับความเป็นจริง ตัวอย่างเหตุการณ์จริงจำนวนมากพอจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง ปัจจุบันเราต่างมีข้อมูลอัตราอาชญากรรมในท้องถิ่นที่เราอาศัย เพราะเราใช้ชีวิตแถวนั้น และเรารับรู้เรื่องต่างๆมากพอควร ฉะนั้นความรู้สึกกับความเป็นจริงก็ไปในแนวทางเดียวกัน โรงละครความปลอดภัยแสดงให้เห็น ถึงความชัดเจนของเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่ึควรจะเป็น เอาล่ะ แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้ผู้คนจับไม่ได้? ครับ ก็คือความไม่รู้ หากคุณไม่เข้าใจเรื่องความเสี่ยงภัย คุณก็ย่อมประเมินต้นทุนความเสี่ยงไม่ได้ เลยอาจทำให้คุณยอมเสียไปมากกว่าที่ได้มา และความรู้สึกกับความเป็นจริงไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ค่อยมีตัวอย่างเหตุการณ์ มีปัญหาที่เป็นธรรมชาติของ เหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย อย่างเช่น ถ้าหากว่า การก่อการร้ายแทบไม่เกิดขึ้นเลย ฉะนั้นการประเมิน วิธีรับมือที่ได้ผลก็เป็นไปได้ยาก เราจึงต้องเสียผู้บริสุทธิ์ไปนับต่อนับ และเป็นสาเหตุที่การโทษผีสางเทวดาใช้ได้ผล เพราะไม่ค่อยมีกรณีที่ใช้ไม่ได้ผลให้เห็นมากนัก บวกกับความรู้สึกที่บดบังความเป็นจริง อคติทางการคิดที่ผมพูดไปแล้วก่อนหน้านี้ ความกลัว ตำนานความเชื่อต่างๆ เป็นแบบจำลองที่สะท้อนความเป็นจริงไม่ได้ดีนัก ทีนี้ผมขออธิบายเพิ่มเติม จากที่พูดไปมีเรื่องของความรู้สึกและความเป็นจริง ทีนี้ผมอยากจะเพิ่มส่วนที่สามเข้าไป เป็นส่วนของ "แบบจำลอง (model)" ความรู้สึกและแบบจำลองจะติดอยู่ในสมองเรา สภาพความเป็นจริงจะอยู่รอบๆตัวเรา ส่วนนี้ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะมันเป็นของจริง ฉะนั้นความรู้สึกจะยึดเอาสัญชาติญาณเป็นหลัก แบบจำลองจะขึ้นอยู่กับเหตุผลเป็นหลัก ซึ่งค่อนข้างต่างกัน ในโลกสมัยบรรพกาลที่เรียบง่าย ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะต้องสร้างแบบจำลอง เพราะความรู้สึกใกล้เคียงกับความเป็นจริงอยู่แล้ว จึงไม่ต้องใช้แบบจำลองใดๆ แต่สำหรับโลกสมัยใหม่ที่ซับซ้อนอย่างที่เราอยู่กันนี้ แบบจำลองเป็นสิ่งจำเป็น ในการเข้าใจความเสี่ยงภัยที่จะพบเจอ ลองนึกดูก่อนหน้านี้เราไม่เคยหยั่งรู้ึถึงภัยจากเชื้อโรค เราจะเข้าใจก็ต่อเมื่อมีแบบจำลอง ฉะนั้น แบบจำลองที่ว่า ถือเป็นสื่อนำเสนอความเป็นจริงที่ชาญฉลาด ทั้งนี้ จะต้องจำกัดอยู่ในกรอบของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พวกเราคงไม่รู้จักทฤษฏีการติดเชื้อทำให้เกิดโรค จนถึงวันที่กล้องจุลทรรศน์ถูกประดิษฐ์ขึ้น มันถูกจำกัดโดยอคติทางการคิด แต่มันมีความสามารถ เข้าครอบงำความรู้สึก แล้วเราได้แบบจำลองเหล่านี้มาได้ยังไงน่ะหรือครับ? เราได้จากคนอื่น จากศาสนา วัฒนธรรม คุณครู ผู้อาวุโส เมื่อสองสามปีก่อน ผมไปท่องซาฟารีดูสัตว์ที่อัฟริกาใต้ คนแกะรอยที่ไปกับผมเกิดที่อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ (Kruger) เขามีแบบจำลองการเอาตัวรอดที่ซับซ้อนมาก ขึ้นอยู่กับว่าคุณโดนสัตว์ชนิดไหนจู่โจม เป็นสิงโต เสือดาว แรด หรือช้าง และเมื่อไหร่ที่คุณรู้ตัวว่าต้องวิ่งหนี ต้องปีนต้นไม้ หรือเมื่อไหร่ที่ไม่ควรปีน ถ้าเป็นผมคงไม่รอดชีวิตกลับมา แต่เขาเกิดที่นั่น เขารู้ว่าจะอยู่รอดได้ด้วยวิธีไหน ส่วนผมเกิดในนครนิวยอร์ก ถ้าผมพาเขาไปนิวยอร์กบ้าง เชื่อว่าเขาคงจะตายตั้งแต่วันแรก (เสียงหัวเราะ) นั่นเป็นเพราะเราโตมาด้วยแบบจำลองที่ต่างกัน พื้นฐานประสบการณ์ที่ต่างกัน เราได้รับแบบจำลองมาจากสื่อต่างๆ จากรัฐบาลที่เราเลือกมา กลับไปที่แบบจำลองการก่อการร้าย การลักพาตัวเด็ก ความปลอดภัยจากการใช้เครื่องบิน ใช้รถ แบบจำลองอาจมาจากวงการอุตสาหกรรม สองอย่างที่ผมติดตามคือ วิธีการทำงานของกล้องวงจรปิด และบัตรประจำตัว แบบจำลองความปลอดภัยจากการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ข้องเกี่ยวกับสองสิ่งนี้ แบบจำลองส่วนมากมาจากวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ แบบจำลองด้านสุขภาพ เช่นมะเร็ง ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู ซาร์ส ความรู้สึกถึงความปลอดภัย ของโรคพวกนี้ ล้วนมาจากแบบจำลองทั้งนั้น ผลงานทางวิทยาศาสตร์ส่งสาห์นมาถึงพวกเราผ่านสื่อ ทั้งนี้แบบจำลองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่จำเป็นต้องตายตัว เมื่อเราเริ่มคุ้นชินกับสภาพแวดล้อม แบบจำลองก็จะยิ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่เรารู้สึก อย่างเช่น ลองย้อนกลับมาไป 100 ปีที่แล้ว ช่วงที่เริ่มมีไฟฟ้าใช้แรกๆ ไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าใกล้มันหรอก ต่างคนต่างกลัวการกดปุ่มกริ่งหน้าบ้าน กลัวว่าไฟฟ้าที่ฝังอยู่ในนั้นจะทำร้ายตัวเอง แต่สำหรับคนยุคนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอะไรที่ใครๆก็ใช้คล่อง เราเปลี่ยนหลอดไฟเอง โดยไม่เกรงกลัวใดๆ แบบจำลองความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้า เป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมๆเรา ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆตลอดช่วงชีวิตเรา และพวกเราก็คุ้นเคยกับมัน ส่วนเรื่องความเสี่ยง บนอินเทอร์เน็ตของชนแต่ละรุ่นก็เช่นกัน ลองเปรียบเทียบมุมมองด้านความปลอดภัยในอินเทอร์เน็ตของรุ่นพ่อแม่ เทียบกับของรุ่นคุณ เทียบกับที่รุ่นลูกจะมอง แบบจำลองของคนแต่ละรุ่นเข้าครอบงำโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นสัญชาตญาณ เป็นความคุ้นชิน จึงทำให้แบบจำลองเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น แล้วท้ายสุดมาบรรจบกับความรู้สึก โดยที่พวกคุณไม่รู้ตัวกัน ฉะนั้นผมขอลองยกตัวอย่าง กรณีไข้หวัดหมูเมื่อปีที่แล้ว ณ ตอนที่โรคนี้ปรากฏครั้งแรก ข่าวแรกๆที่ออกจากสื่อทำให้ผู้คนเกิดปฏิกิริยาเกินจริง พอมีชื่อเรียกโรคนี้เฉพาะ เลยเป็นเหตุให้มันน่ากลัวกว่าไข้หวัดทั่วๆไป แม้ว่ามันจะอันตรายกว่าจริงๆก็ตาม และทุกคนคิดว่าทำไมหมอถึงไม่มีวิธีต่อกรกับมัน เลยยิ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นมันสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และสองสิ่งนั้น ทำให้มันดูอันตรายมากกว่าที่เป็นจริง พอความแปลกใหม่เริ่มซาลง ผ่านไปเดือนหนึ่ง ผู้คนเริ่มยอมรับ และคุ้นเคยกับโรคนี้ เมื่อไม่มีการประโคมข่่าว ความกลัวก็ค่อยๆลดลง พอถึงฤดูใบไม้ร่วง ผู้คนก็คิดว่า หมอน่าจะมีวิธีรับมือกับโรคนี้แล้ว ณ ตอนนั้นเราอยู่บนทางแยก เราต้องเลือก ระหว่างกลัวต่อไปหรือยอมรับมัน จริงๆแล้วคือกลัวต่อไปหรือเพิกเฉย แต่สุดท้ายพวกเขาเลือกที่จะสงสัย และเมื่อวัคซีนปรากฏเมื่อฤดูหนาวปีที่แล้ว คนจำนวนไม่น้อย จำนวนที่คาดไม่ถึงเลยล่ะ ปฏิเสธที่จะใช้มัน เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ความรู้สึกปลอดภัยของผู้คนเปลี่ยนไปได้อย่างไร แบบจำลองเปลี่ยนไปได้อย่างไร ราวหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งๆที่ไม่มีข้อมูลอะไรใหม่ๆเลย และไม่มีอะไรใหม่ๆเพิ่มเข้ามาด้วย เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก ผมอยากจะบวกปัจจัยเพิ่มอีกอย่าง พวกเรามีความรู้สึก แบบจำลอง และสภาพความเป็นจริง ผมคิดว่าความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ ขึ้นอยู่กับผู้ที่สังเกตการณ์ การตัดสินใจว่าด้วยความปลอดภัยส่วนใหญ่ มาจากกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่คิดไว้แล้วว่าจะยอมได้ยอมเสียอะไรบ้าง จะพยายามโน้มน้าวผลักดันการตัดสิน และผมขอเรียกว่า "ระเบียบวาระ" ของพวกเขาก็แล้วกัน และคุณจะเห็นว่าระเบียบวาระ จะมาในรูปแบบการตลาดบ้างล่ะ การเมืองบ้างล่ะ พยายามโน้มน้าวคุณให้เลือกแบบจำลองหนึ่งแทนอีกแบบหนึ่ง พยายามโน้มน้าวให้คุณเลิกใส่ใจกับแบบจำลอง และให้คุณเชื่อความรู้สึกของคุณแทน ทำให้ผู้คนหันมาเห็นด้วยกับแบบจำลองที่คุณไม่ชอบ ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกนะครับ ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างที่ดีมากครับ คือความเสี่ยงภัยจากการสูบบุหรี่ 50 ปีที่ผ่านมา ความเสี่ยงภัยจากการสูบบุหรี่ แสดงให้เห็นว่าแบบจำลองได้เปลี่ยนไปอย่างไร และแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมมีวิธีต่อสู้กับ แบบจำลองที่ไม่เอื้อประโยชน์พวกเขาอย่างไร เปรียบเทียบกับการโต้ประเด็นผู้สูบบุหรี่มือสอง ซึ่งน่าจะตามหลังมาจากนั้นอีก 20 ปี เรื่องเข็มขัดนิรภัยก็เช่นกัน ตอนผมเด็กๆ ไม่มีใครคาดเข็มขัดนิรภัยหรอกครับ แต่ทุกวันนี้ ไม่มีเด็กคนไหนที่ยอมให้คุณออกรถ ถ้าคุณไม่คาดเข็มขัดนิรภัยก่อน ลองเปรียบเทียบกับการโต้ประเด็นถุงลมนิรภัย ซึ่งน่าจะตามหลังมาจากนั้นอีก 30 ปี ตัวอย่างแบบจำลองทั้งหมดได้เปลี่ยนแปลงไป ทีนี้เราสรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงแบบจำลองเป็นเรื่องยากทีเดียว เพราะแบบจำลองจะตรึงอยู่ในความคิด ถ้ามันเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับความรู้สึก คุณจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าคุณถูกแบบจำลองครอบงำอยู่ และอคติทางการคิดอีกรูปแบบหนึ่ง คือสิ่งที่ผมเรียกว่า อคติแบบยืนยันความเชื่อ (confirmation bias) พวกเรามักจะเลือกรับข้อมูล ที่ตรงกับความเชื่อของเราเอง และปฏิเสธรับข้อมูลที่ขัดกับความเชื่อ ดังนั้นแม้ว่าหลักฐานที่มีจะขัดแย้งกับแบบจำลองของเรา พวกเราก็มักจะเพิกเฉย แม้ว่าหลักฐานนั้นจะแจ่มแจ้ง ฉะนั้นหลักฐานจะต้องแจ่มแจ้งน่าเชื่อถือมากถึงมากที่สุด พวกเราถึงจะยอมสนใจ แบบจำลองใหม่ๆที่กินเวลานานก็จะยิ่งยาก โลกร้อนเป็นตัวอย่างที่ดีทีเดียว เราไม่ตอบรับกันเลย กับแบบจำลองที่ครอบคลุมช่วงเวลา 80 ปี เราไม่มีปัญหาเลยกับระยะเวลานานเท่ากับการรอเก็บเกี่ยวงวดหน้า เราไม่ค่อยมีปัญหากับระยะเวลานานเท่ากับที่รอลูกๆเราโต แต่ทว่า 80 ปีนั้นยาวนานเกินไปสำหรับเรา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นแบบจำลองที่ยอมรับได้ยากมาก เราก็ยังสามารถยอมรับแบบจำลองสองแบบในเวลาเดียวกันได้ด้วย เป็นปัญหาประเภทเดียวกับ ที่เราเห็นด้วยกับสองมุมมองที่ขัดแย้ง หรือ ความไม่ลงรอยกันของการรู้ (cognitive dissonance) และท้ายที่สุด แบบจำลองใหม่ก็จะแทนที่แบบจำลองที่มีอยู่เดิม และความรู้สึกที่แรงกล้าก็ทำให้เกิดเป็นแบบจำลองได้ เหตุการณ์ 11 กันยาก็ทำให้เกิดแบบจำลองเรื่องความปลอดภัย ในหัวของคนมากมาย อาชญากรรมที่เจอกับตัวเองก็เช่นกัน ความกลัวเรื่องสุขภาพ หรือเรื่องโรคต่างๆที่ตกเป็นข่าว จิตแพทย์เรียกเหตุการณ์แบบนั้นว่า อุบัติการณ์ภาพความทรงจำเสมือน (flashbulb event) มันสามารถสร้างภาพจำลองขึ้นมาได้ทันที เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่เร่งเร้าสะเทือนอารมณ์อย่างยิ่ง ฉะนั้นในโลกแห่งเทคโนโลยีแบบนี้ พวกเราไม่มีประสบการณ์ ไปประเมินแบบจำลองใดๆได้ เราพึ่งพาผู้อื่น พึ่งพาตัวแทน เพียงแค่ตัวแทนระบุสิ่งที่ถูกหรือไม่ถูกต้องได้ก็ใช้ได้แล้ว พวกเราพึ่งพาหน่วยงานของรัฐ เพื่อรับรองว่ายาประเภทไหนปลอดภัย ที่ผมบินมาที่นี่เมื่อวานนี้ ผมไม่ได้เป็นคนตรวจเครื่องบินเอง ผมพึ่งคนอื่นๆ ในการตรวจสอบเครื่องบินว่าปลอดภัย หรือที่พวกเราไม่ได้ระแวงว่าหลังคาจะถล่มใส่หัวเราเมื่อไหร่ ไม่ได้เป็นเพราะพวกเราตรวจสอบเอง แต่พวกเราค่อนข้างมั่นใจ ว่าโครงสร้างอาคารได้มาตรฐาน มันเป็นแบบจำลองที่เรายอมรับ และเชื่อว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ และค่อนข้างดีทีเดียว ตอนนี้ สิ่งที่พวกเราต้องการคือ ให้ผู้คนทำความคุ้นเคยกับแบบจำลองที่ดีกว่า ให้มากกว่านี้ ทำให้มันสะท้อนอยู่ในความรู้สึกพวกเขา ให้พวกเขาใช้เพื่อตัดสินใจยอมเสียบางอย่างเพื่อแลกกับความปลอดภัย และเมื่ออะไรไม่เป็นไปอย่างที่ควรเป็น จะมี 2 ทางให้คุณเลือก ตัวเลือกแรก คือ แก้ที่ความรู้สึกผู้คน แก้ที่ความรู้สึกโดยตรง มันเป็นการปรับเปลี่ยนยักย้าย แต่ก็อาจจะเห็นผลสักวันหนึ่ง ตัวเลือกที่สอง เอาตรงๆนะ ก็คือแก้ที่ตัวแบบจำลอง การเปลี่ยนแปลงค่อยๆเกิดขึ้น ประเด็นสูบบุหรี่ใช้เวลา 40 ปี และนั่นไม่ได้ยากเท่าไหร่ ในขณะที่บางสิ่งในที่นี้แก้ยาก แก้ลำบากมาก ข้อมูลดูเหมือนจะเป็นความหวังที่ดีที่สุดของเรา และผมโกหก ที่ผมพูดไว้ว่า "ความรู้สึก" "แบบจำลอง" และ"สภาพความเป็นจริง" ที่ว่าสภาพความเป็นจริงจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่จริงๆมันเปลี่ยนได้ พวกเราอยู่ในโลกของเทคโนโลยี ความเป็นจริงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้น อาจจะมีครั้งแรกในสายพันธุ์มนุษย์ของเรา ที่ความรู้สึกไล่ตามแบบจำลอง แบบจำลองไล่ตามสภาพความเป็นจริง และความเป็นจริงก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แม้อาจจะตามกันไม่ทัน แต่ใครจะรู้ล่ะ? แต่ในระยะยาว ความรู้สึกและสภาพความเป็นจริงเป็นสิ่งสำคัญ และผมอยากจบการอภิปรายครั้งนี้ด้วยสองเรื่องสั้นๆเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ปี 1982 (พ.ศ.2525) ผมไม่แน่ใจว่าใครจำเรื่องนี้ได้หรือเปล่า มีเหตุโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ของไทลินอลเป็นพิษในสหรัฐฯ เป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวทีเดียว ซึ่งเกิดจากใครสักคน ใส่ยาพิษลงในขวดยาแล้วปิดฝาวางไว้ที่เดิม ไม่นานก็มีคนซื้อไป คนๆนี้ทำให้ เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในสังคมตามมาอีกหลายๆครั้ง ทั้งที่อาจไม่มีภัยนั้นจริง แต่ผู้คนก็ยังกลัวกันอยู่ดี และนี่เป็นแหล่งกำเนิด นวัตกรรมผนึกขวดในอุตสาหกรรมยา ฝาผนึกขวดที่เห็นทุกวันนี้มาจากเหตุการณ์นั้นเอง นับว่าเข้ากับโรงละครความปลอดภัยเต็มรูปแบบ ผบขอให้ทุกท่านลองไปคิดดูเป็นการบ้านนะครับ ว่าถ้าเป็นคุณจะแก้ไขอย่างไร ซัก 10 วิธีนะครับ สำหรับผม ใช้หลอดฉีดยาก็ไม่เลวนะ น่าจะทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น มันทำให้พวกเขาวางใจว่าปลอดภัย ใช้ได้ในสภาพความเป็นจริง และเรื่องสุดท้าย เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อนผมเพิ่งคลอดลูก ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาล ผมสังเกตเห็นว่า ทุกวันนี้เด็กที่คลอด ต้องใส่กำไลข้อมือประจำตัวแบบเทคโนโลยีคลื่นความถี่ (RFID) พร้อมทั้งใส่อีกอันหนึ่งให้คุณแม่ ทั้งนี้ ถ้ามีใครสักคนที่ไม่ใช่คุณแม่ของเด็กอุ้มตัวเด็กออกจากเขตที่ตั้งไว้ เสียงเตือนจะดังขึ้นทันที ผมขอบอกว่า "มันดูเหมือนจะใช้ได้นะ แต่ผมสงสัยว่า พวกลักพาตัวเด็ก หนีออกจากโรงพยาบาลได้อย่างไร?" ผมลองมาสืบค้นข้อมูล ได้ความว่า เหตุการณ์แบบนี้แทบไม่เกิดขึ้นเลย แต่คุณลองคิดดู ถ้าคุณเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล แล้วเกิดต้องพาตัวเด็กไปจากแม่ เพื่อไปตรวจอะไรซักอย่าง คุณควรจะมี "โรงละครปลอดภัย" ที่ดี มิฉะนั้นแม่ของเด็กคนนั้นคงเอาคุณตายแน่ๆ (เสียงหัวเราะ) ฉะนั้นมันสำคัญกับพวกเรา กับกลุ่มคนที่ออกแบบวิธีรักษาความปลอดภัยทั้งหลาย กลุ่มคนที่วางนโยบายความปลอดภัย หรือกระทั่งกลุ่มคนที่วางนโยบายสาธารณะ ที่จะมีผลกระทบกับความปลอดภัย ไม่ใช่เพียงสภาพความเป็นจริง แต่เป็นความรู้สึกและความเป็นจริงผนวกเข้าด้วยกัน สิ่งที่สำคัญคือ สองอย่างนี้คล้ายๆกัน และเมื่อความรู้สึกและความเป็นจริงไปในแนวทางเดียวแล้ว ก็จะทำให้เราเลือกที่จะเสียบางอย่างไปเพื่อแลกกับความปลอดภัยได้ดีขึ้น ขอบคุณมากครับ (เสียงปรบมือ)