เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 2011 ผมอยู่ที่ MIT Media Lab ในเคมบริดจ์ (Massachusetts Institute of Technology) กำลังพบปะกับอาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ ตอนนั้นเขากำลังพิจารณาว่า ควรให้ผมเป็นผู้อำนวยการคนต่อไป ของแล็บนี้หรือเปล่า คืนนั้น ตอนเที่ยงคืน เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงระดับ 9 ที่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น ภรรยาและครอบครัวของผมอยู่ในญี่ปุ่น ตอนที่เริ่มมีข่าวเข้ามา ผมตื่นตกใจมาก ผมเฝ้าติดตามรายงานข่าว คอยฟังแถลงการณ์ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และบริษัทผลิตไฟฟ้า Tokyo Power แล้วก็ได้ข่าวการระเบิด ของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และกลุ่มฝุ่นกัมมันตรังสี ที่กำลังเคลื่อนตัวไปทางบ้านของเรา ซึ่งอยู่ห่างออกไปแต่ 200 กิโลเมตร คนที่ออกทีวี ไม่มีใครบอกข้อมูล ที่เราต้องการรู้เลยสักนิด ผมอยากรู้ว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีสภาพเป็นอย่างไร สถานการณ์การรั่วไหลของกัมมันตรังสีเป็นอย่างไร ครอบครัวผมตกอยู่ในอันตรายหรือเปล่า ผมก็เลยลงมือทำสิ่งที่ผมรู้สึกตามสัญชาตญาณว่าควรทำ นั่นคือเข้าอินเตอร์เน็ต และพยายามค้นหาว่า ผมจะทำอะไรได้บ้างด้วยมือของผม บนอินเตอร์เน็ต ผมได้พบกับคนอื่นๆ อีกมากมาย ที่กำลังหาข้อมูลเหมือนกับผม ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็มารวมตัวกันหลวมๆ เรียกว่ากลุ่มเซฟแคส (Safecast) เราตัดสินใจว่าเราจะลอง วัดระดับกัมมันตรังสี และเผยแพร่ข้อมูลออกไปให้ทุกคนรู้ เพราะตอนนั้นเราเห็นชัดแล้วว่า รัฐบาลจะไม่ทำเรื่องนี้ให้เรา สามปีต่อมา เรามีข้อมูล 16 ล้านหน่วย เราออกแบบเครื่องวัดกัมมันตรังสีของเราเอง ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดแบบไปทำเอง แล้วเอาไปเชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย แล้วเราก็มีแอพพลิเคชั่นที่แสดง ระดับกัมมันตรังสีบนพื้นที่ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น และส่วนอื่นๆ ของโลก เรียกได้ว่า นี่เป็นโครงการวิทยาศาสตร์ ภาคพลเมือง ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในโลก และเราได้สร้างฐานข้อมูลสาธารณะ ด้านระดับกัมมันตรังสี ที่ใหญ่ที่สุด สิ่งที่น่าสนใจคือ ... (เสียงปรบมือ) ขอบคุณครับ เป็นไปได้อย่างไร ที่มือสมัครเล่นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่รู้หรอกว่าเรากำลังทำอะไรกัน มารวมตัวกัน แล้วทำสิ่งที่เอ็นจีโอและรัฐบาล ทำไม่ได้เลยโดยสิ้นเชิง ผมอยากบอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ อินเตอร์เน็ตครับ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่ดวง และไม่ใช่เพราะ พวกเราเป็นคนพิเศษอะไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วยดึงทุกคนเข้าหากัน แต่เป็นเพราะวิธีทำงานรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้เพราะอินเตอร์เน็ต และอะไรอีกมากมายที่เกิดขึ้นช่วงนั้น ผมเลยอยากจะพูดถึงสักนิดว่า หลักการใหม่ๆ เหล่านั้นคืออะไร เอาล่ะ คุณจำสมัยที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตได้ไหม (เสียงหัวเราะ) ผมเรียกมันว่ายุค ก.อ. (ก่อนอินเตอร์เน็ต) สมัยก่อนอินเตอร์เน็ต ชีวิตก็เรียบง่าย อะไรๆ ก็เป็นไปตามหลักของยูคลิด นิวตัน ค่อนข้างทำนายได้ คนเราก็พยายามทำนายอนาคต แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ แล้วพออินเตอร์เน็ตเกิดขึ้น โลกเราก็เริ่มซับซ้อนสุดๆ ต้นทุนการสื่อสารถูกสุดๆ และเร็วสุดๆ และกฎของนิวตันทั้งหลาย ที่เราเคยทนุถนอมชื่นชม ก็กลายเป็นความเชื่อท้องถิ่น และเราก็พบว่า ในโลกที่ไม่อาจทำนายอะไรได้เลยแบบนี้ คนส่วนใหญ่ที่มีชีวิตรอดอยู่ได้ คือคนที่ทำอะไรโดยใช้หลักการที่แตกต่างไป ผมจึงอยากพูดถึงเรื่องนี้สักหน่อย ก่อนยุคอินเตอร์เน็ต ถ้าคุณจำได้ เวลาเราพยายามสร้างบริการ เราจะเริ่มจากการสร้าง ฮาร์ดแวร์ เครือข่าย และซอฟต์แวร์ ซึ่งมีต้นทุนหลายล้านดอลลาร์ เพื่อทำงานใหญ่ๆ สำคัญๆ เมื่อการทำงานใหญ่ๆ มีต้นทุนสูงหลายล้านดอลลาร์ สิ่งที่คุณต้องทำคือ หาคนที่จบปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) มาเขียนแผนธุรกิจ และหาเงินทุน จากนักลงทุนหรือบริษัทใหญ่ๆ แล้วคุณก็จ้างนักออกแบบและวิศวกร ให้เขาสร้างผลิตภัณฑ์ออกมา นั่นคือโมเดลการสร้างนวัตกรรม ยุคก่อนอินเตอร์เน็ต สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเรามีอินเตอร์เน็ตแล้วคือ ต้นทุนการสร้างนวัตกรรมถูกลงมากๆ เพราะต้นทุนในการประสานความร่วมมือ การกระจายสินค้า การสื่อสาร และกฎของมัวร์ (Moore's Law) (เรื่องความสามารถของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ทำให้ต้นทุนของการลองทำสิ่งใหม่ๆ ลดลงเหลือเกือบศูนย์ แล้วคุณก็มีกูเกิ้ล เฟซบุค ยาฮู มีนักเรียนที่ทำอะไรโดยไม่ต้องขออนุญาต นวัตกรรมที่ไม่ต้องรอการอนุมัติ ไม่มีการขออนุมัติ ไม่มีพาวเวอร์พอยท์ เด็กๆ เหล่านี้แค่ลงมือสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมา แล้วค่อยไปหาเงินทุน แล้วก็เริ่มคิดแผนธุรกิจขึ้นมา และภายหลังก็อาจจะจ้างคนที่จบบริหารธุรกิจ (MBA) มาช่วย ดังนั้น อินเตอร์เน็ตจึงทำให้เกิดนวัตกรรม อย่างน้อยก็ในวงการซอฟต์แวร์และการบริการ เราเปลี่ยนจากโมเดลนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย บัณฑิตบริหารธุรกิจ (MBA) ไปสู่โมเดลนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย นักออกแบบและวิศวกร ซึ่งผลักให้นวัตกรรมไปสู่แนวหน้า ไปสู่หอพักนักศึกษา ไปสู่บริษัทแรกก่อตั้ง ห่างไกลจากสถาบันใหญ่ๆ สถาบันเก่าแก่คร่ำครึที่มีอำนาจ มีเงิน และมีสิทธิมีเสียงในการสั่งการ เราต่างก็รู้ดี ว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ต แต่นอกจากนี้ มันยังเกิดขึ้นในวงการอื่นด้วย ผมขอยกตัวอย่างให้ฟัง ที่ MIT Media Lab เราไม่เพียงแค่สร้างฮาร์ดแวร์ เราทำทุกอย่าง ทั้งชีววิทยาด้วย ฮาร์ดแวร์ด้วย ดังประโยคฮิตของนิโคลัส นีโกรปอนติ (อดีต ผอ. MIT Media Lab) ที่ว่า "สร้างต้นแบบมา ไม่งั้นตาย" แทนที่จะเป็น "ตีพิมพ์งานวิจัย ไม่งั้นตาย" ซึ่งเป็นวิธีคิดทางวิชาการแบบโบราณ เขามักจะพูดว่า ขอให้ต้นแบบมันทำงานได้แค่ครั้งเดียวแหละ เพราะช่องทางหลักที่งานของเรา จะมีผลต่อโลกได้ ก็ต้องผ่านบริษัทใหญ่ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรา แล้วสร้างสินค้าอย่าง Kindle หรือ Lego Mindstorms ออกมา แต่วันนี้ ด้วยความสามารถ ที่จะสร้างสิ่งต่างๆ ออกมาสู่โลกความจริงด้วยต้นทุนต่ำขนาดนั้น ผมกำลังจะเปลี่ยนคำขวัญละ และนี่คือการแถลงต่อหน้าสาธารณะอย่างเป็นทางการ ผมขอกล่าวอย่างเป็นทางการว่า "ผลิตสินค้าจริงออกมา ไม่งั้นตาย" คุณต้องสร้างสิ่งประดิษฐ์ของคุณออกสู่โลกความจริง มันถึงจะมีความหมายที่แท้จริง บางทีเราอาจต้องการบริษัทใหญ่ๆ นิโคลัสอาจจะพูดถึงดาวเทียม (เสียงปรบมือ) ขอบคุณครับ แต่เราควรออกไปสู่ตลาดด้วยตัวเราเอง ไม่ใช่หวังให้สถาบันใหญ่ๆ จัดการให้ เมื่อปีที่แล้ว เราเลยพานักศึกษากลุ่มหนึ่ง ไปเสิ่นเจิ้น พวกเขานั่งบนพื้นโรงงาน กับนักสร้างนวัตกรรมในเสิ่นเจิ้น มันน่าทึ่งมาก สิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่นคือ ทุกคนมีอุปกรณ์การผลิตเหล่านี้ พวกเขาไม่ได้สร้างต้นแบบหรือพาวเวอร์พอยท์ แต่ทำงานมือเป็นระวิง กับอุปกรณ์การผลิตเหล่านี้ แล้วสร้างนวัตกรรมขึ้นมาตรงนั้นเลย โรงงานนั้นอยู่ในตัวนักออกแบบ และนักออกแบบก็อยู่ในโรงงานจริงๆ สิ่งที่คุณทำคือ ลงไปดูที่ร้านขายโทรศัพท์มือถือ คุณจะเห็นโทรศัพท์มือถือพวกนี้ แทนที่จะสร้างเว็บไซต์เล็กๆ เหมือนเด็กๆ ที่พาโล อัลโตทำกัน เด็กๆ ในเสิ่นเจิ้น จะสร้างโทรศัพท์มือถือใหม่ๆ ขึ้นมา เหมือนกับที่เด็กๆ ในพาโล อัลโต สร้างเว็บไซต์ และนั่นคือป่าอันอุดมสมบูรณ์ ของนวัตกรรมโทรศัพท์มือถือ เด็กพวกนี้สร้างโทรศัพท์มือถือ ลงไปที่ร้าน เอาไปขายจริง ดูว่าเด็กคนอื่นทำอะไรบ้าง แล้วกลับขึ้นไป ทำมือถือใหม่ออกมาอีกสองสามพันเครื่อง แล้วลงไปขายใหม่ ฟังดูเหมือนวงการซอฟต์แวร์ไหมครับ เหมือนกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่มีความคล่องตัวสูงมาก ทดลองใช้เทียบกับของเก่าแล้วปรับปรุงอีก สิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้กับซอฟต์แวร์เท่านั้น เด็กๆ ในเสิ่นเจิ้นทำได้กับฮาร์ดแวร์ ผมหวังอยู่ว่า นักศึกษาคนใหม่ในทีมของผม จะเป็นหนึ่งในนักสร้างนวัตกรรม จากเสิ่นเจิ้นนี่ล่ะ สิ่งที่คุณเห็นนี่คือ การผลักนวัตกรรมออกไปยังแนวหน้า เราพูดถึงเครื่องพิมพ์สามมิติอะไรพวกนั้น ซึ่งเจ๋งมาก แต่นี่คือลิมอร์ เธอเป็นหนึ่งในบัณฑิตคนโปรดของเรา รูปนี้เธอยืนอยู่หน้าเครื่อง Techwin Pick and Place ของซัมซุง ซึ่งสามารถประกอบชิ้นส่วน 23,000 ชิ้น ลงบนบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ภายใน 1 ชั่วโมง นี่คือโรงงานในกล่อง อะไรที่เราเคยต้องใช้โรงงานที่มีคน ทำงานด้วยมือเต็มโรงงาน พอมีเจ้ากล่องเล็กๆ นี่ในนิวยอร์ค เธอก็ทำได้เหมือนกัน เธอไม่ต้องไปถึงเสิ่นเจิ้น เพื่อผลิตสินค้าพวกนี้ เธอสามารถซื้อเจ้ากล่องนี้แล้วลงมือผลิตเลย ดังนั้น การผลิต ต้นทุนการสร้างนวัตกรรม การสร้างต้นแบบ กระจายสินค้า การผลิต ฮาร์ดแวร์ ราคาถูกลงมาก จนนวัตกรรมเกิดได้ที่แนวหน้า นักเรียนและบริษัทเปิดใหม่ก็สร้างนวัตกรรมได้ ปรากฏการณ์นี้เพิ่งเริ่ม แต่มันจะเกิดขึ้น และมันจะเปลี่ยนโลก เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในวงการซอฟต์แวร์ โซโรนา เป็นกระบวนการที่ดูปองต์คิดขึ้น โดยใช้จุลินทรีย์ที่ตัดต่อพันธุกรรม ให้สามารถเปลี่ยนน้ำตาลข้าวโพดเป็นโพลีเอสเตอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 30 เปอร์เซนต์ และก็ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเยอะ พันธุวิศวกรรม และวิศวกรรมชีวภาพ กำลังสร้างโอกาสดีๆ ใหม่ๆ อีกมากมาย สำหรับวงการเคมี การคำนวณ และความจำ แน่นอนว่าเราคงทำเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพเยอะ แต่อนาคตเราอาจจะปลูกเก้าอี้ หรือปลูกตึกได้จริงๆ ปัญหาคือ เจ้าเครื่องโซโรนานั้น ราคา 400 ล้านดอลลาร์ และใช้เวลาสร้าง 7 ปี คงทำให้คุณนึกถึง เครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมสมัยก่อน ประเด็นคือ ต้นทุนของนวัตกรรม ด้านวิศวกรรมชีวภาพก็กำลังลดลง นี่คือเครื่องจัดเรียงยีนแบบตั้งโต๊ะ เมื่อก่อนการตัดต่อยีนใช้เงินเป็นล้านๆ ดอลลาร์ ตอนนี้คุณทำเองได้บนเครื่องตั้งโต๊ะแบบนี้ เด็กๆ ก็ทำได้ในหอพักตัวเอง นี่คือเครื่องประกอบยีนรุ่น Gen 9 ปัจจุบันเมื่อคุณพยายามพิมพ์ยีน ก็ต้องให้ใครบางคนในโรงงาน ผสมสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันในหลอดแก้ว คุณจะเจอความผิดพลาดหนึ่งแห่งต่อร้อยคู่เบส และใช้เวลานานกับเงินอีกมหาศาล เจ้าเครื่องใหม่นี้ ประกอบยืนเข้าด้วยกันบนชิพ แทนที่ความผิดพลาดจะเป็นหนึ่งต่อ 100 คู่เบส ก็กลายเป็นหนึ่งต่อ 10,000 คู่เบส ในแล็บเราจะมีเครื่องพิมพ์ยีน ที่ประสิทธิภาพสูงสุดในโลก ภายในเวลาหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งตัดต่อยีนได้ 200 ล้านคู่เบสต่อปี นี่ก็เหมือนตอนที่เราเปลี่ยน จากวิทยุทรานซิสเตอร์ประดิษฐ์ด้วยมือ ไปสู่ชิพเพนเทียม นวัตกรรมนี้จะเป็นเพนเทียมของ วงการวิศวกรรมชีวภาพ ผลักดันวิศวกรรมชีวภาพไปสู่มือของ นักศึกษาในหอพักและบริษัทเปิดใหม่ สิ่งนี้เกิดขึ้นทั้งในวงการซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และวิศวกรรมชีวภาพ นี่คือวิธีคิดเกี่ยวกับนวัตกรม ที่ใหม่เอี่ยม มันเป็นกระบวนการที่มาจากคนทั่วไป เป็นประชาธิปไตย มันโกลาหล ควบคุมยาก ไม่ใช่ไม่ดี เพียงแค่แตกต่าง และผมคิดว่ากฎเกณฑ์เดิมๆ ที่เรามี สำหรับสถาบันต่างๆ ใช้ไม่ได้อีกแล้ว และพวกเราหลายคน ณ ที่นี้ ก็ทำงานบนหลักการที่แตกต่างกันไป หนึ่งในหลักการที่ผมชอบที่สุดคือพลังการดึง นั่นคือแนวคิดการดึงทรัพยากร มาจากเครือข่ายเมื่อคุณต้องการใช้ แทนที่จะเก็บสะสมไว้ที่ศูนย์กลาง แล้วควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างในกรณีของเซฟแคส ผมไม่รู้อะไรเลย ตอนที่เกิดแผ่นดินไหว แต่ผมสามารถหาตัวฌอน ซึ่งเป็นคนจัดตั้งชุมชนนักประดิษฐ์คิดค้น ด้านคอมพิวเตอร์ และปีเตอร์ นักดัดแปลงอุปกรณ์อนาล็อก ซึ่งสร้างเครื่องวัดกัมมันตรังสีเครื่องแรกให้เรา และแดน ผู้สร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมือง Three Miles Island เป็นคนดูแลระบบหลังเกิดเหตุเตาปฏิกรณ์ที่นั่น ร้อนจัดจนหลอมละลาย ผมไม่สามารถหาคนพวกนี้เจอได้ก่อนล่วงหน้า และอาจจะดีกว่า ที่ผมเจอเขาในเครือข่ายในเวลาที่เหมาะเจาะ ผมลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันสามครั้ง ดังนั้น การเรียนรู้สำคัญกว่าการศึกษา เป็นสิ่งที่ผมเชื่อสุดหัวใจ สำหรับผม การศึกษาคือสิ่งที่คนอื่นทำกับคุณ แต่การเรียนรู้คือสิ่งที่คุณทำกับตัวเอง (เสียงปรบมือ) ผมรู้สึกว่า คือผมก็อคตินะ ผมรู้สึกเหมือนว่า การศึกษาพยายามให้คุณท่องจำ สารานุกรมทั้งเล่ม ก่อนจะปล่อยให้คุณออกไปเล่นข้างนอก สำหรับผม ผมมีวิกิพีเดียบนมือถือนี่ และผมว่าเขาเชื่อโดยไม่มีเหตุผล ว่าคุณจะต้องขึ้นไปอยู่บนยอดเขาสักแห่ง เพียงลำพัง กับดินสอ 2B แท่งหนึ่ง พยายามคิดว่าจะทำอย่างไร ทั้งที่จริงคุณเชื่อมโยงติดต่อกับคนอื่นตลอด คุณจะมีเพื่อนอยู่เสมอ และคุณสามารถเปิดวิกิพีเดียเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ สิ่งที่คุณต้องเรียนรู้คือ วิธีการเรียนรู้ ในกรณีเซฟแคส คือมือสมัครเล่นกลุ่มหนึ่ง ตอนที่เราเริ่มต้นเมื่อสามปีที่แล้ว ตอนนี้ผมว่า ทีมของเราอาจจะ รู้ดีกว่าองค์กรใดๆ ในโลกนี้ ว่าการเก็บข้อมูล เผยแพร่ข้อมูล และทำโครงการทางวิทยาศาสตร์ภาคประชาชนนั้น ทำอย่างไร เข็มทิศสำคัญกว่าแผนที่ ประเด็นของข้อนี้คือ ต้นทุนการเขียนแผน หรือสร้างแผนที่ของอะไรสักอย่างนั้นแพงมาก และมันก็ไม่ค่อยแม่นยำ หรือมีประโยชน์นักหรอก ในกรณีเซฟแคส เรารู้ว่าเราต้องเก็บข้อมูล เรารู้ว่าเราต้องการเผยแพร่ข้อมูล แทนที่เราจะคิดแผนโดยละเอียดขึ้นมา เราเริ่มจากบอกว่า ไปหาเครื่องวัดกัมมันตรังสีมาดีกว่า อ่าว หาไม่ได้ ของหมด งั้นมาสร้างกันเอง อ่าว มีเซนเซอร์ไม่พอ นั่นล่ะ เราก็สร้างเครื่องวัดกัมมันตรังสีเคลื่อนที่ จนสำเร็จ เราขับรถไปทั่ว เราหาอาสาสมัคร เรามีเงินไม่พอ งั้นระดมทุนผ่านเว็บ Kickstarter กัน เราวางแผนทั้งหมดนี้ไม่ได้หรอกครับ แต่เรามีเข็มทิศที่ดีมาก ในที่สุดเราก็ไปถึงที่ที่เราต้องการ ผมว่ามันเหมือนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งมีความคล่องตัวสูง แต่แนวคิดเรื่องเข็มทิศนี่สำคัญมาก ผมคิดว่า ข่าวดีคือ แม้โลกจะซับซ้อนสุดๆ แต่สิ่งที่คุณต้องทำนั้นเรียบง่ายมาก ผมว่าคุณต้องหยุดคิดว่า คุณต้องวางแผนทุกอย่างล่วงหน้า คุณต้องเก็บสำรองทุกอย่างไว้ แต่คุณต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ และมุ่งความสนใจ ไปที่การติดต่อทำความรู้จักผู้คน เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ตื่นตัวรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ และอยู่กับปัจจุบันสุดๆ ผมเลยไม่ชอบคำว่า "นักอนาคตนิยม" ผมว่าเราควรเป็น "นักปัจจุบันนิยม" อย่างที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)