อยากรู้ไหมครับ ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ว่าวันพรุ่งนี้ ปีหน้า หรือพันปีข้างหน้า จะเกิดอะไรขึ้น คุณไม่ได้สงสัยอยู่คนเดียวหรอกครับ ทัั้งรัฐบาล กองทัพ ผู้นำโลกอุตสาหกรรม ก็สงสัยเหมือนกัน พวกเขาต่างว่าจ้าง "นักอนาคต" พยายามมาทำนายอนาคตดู พวกเขาบางคนทำนาย ได้แม่นยำจนน่าทึ่งเชียวล่ะ ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 สถาบันวิจัยที่ชื่อว่า แรนด์ คอร์โปเรชั่น (RAND) ระดมพลังสมองนักวิทยาศาสตร์ และนักอนาคตจำนวนหนึ่ง พวกเขาร่วมกันคาดการณ์ ว่าจะเกิดเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่าง ที่ในปัจจุบัน พวกเรามองว่าเป็นของธรรมดา ตัวอย่างเช่น อวัยวะเทียม ยาคุมกำเนิด ห้องสมุดที่ค้นหาข้อมูล ให้กับผู้อ่านได้ตามต้องการ วิธีหนึ่งที่นักอนาคต ใช้คาดการณ์ทำนาย คือการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว และค่านิยมของสังคม มองหาแนวทางที่คาดว่า น่าจะถูกเลือกเพื่อก้าวต่อไปในอนาคต โดยแต่ละแนวทางก็มี ความน่าจะเป็นแตกต่างกันไป งานของพวกเขา จะช่วยผู้วางแผนนโยบายและผู้นำโลก ให้พวกเขาชั่งน้ำหนักทางเลือกแต่ละทาง ซึ่งหากไม่ใช่วิธีนี้ ก็คงไม่อาจจินตนาการ ได้ละเอียดและลึกซึ้งอย่างนี้ได้ แน่ละครับ ว่าก็ต้องมีข้อจำกัด ว่าคนเราจะคาดการณ์ถึงอนาคตได้แค่ไหน อย่างไรก็ต้องมีการค้นพบ ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเกิดขึ้น การค้นพบที่สำหรับคน ในยุคปัจจุบันแล้ว เป็นไปไม่ได้ ลองจินตนาการดูนะครับ หากเราส่งตัวนักฟิสิกส์ จากช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ข้ามเวลามาศตวรรษที่ 21 อธิบายให้เขาฟังว่า มีธาตุประหลาดตัวหนึ่ง ชื่อ ยูเรเนียม 235 ที่ตัวมันเองสามารถผลิตพลังงาน มากพอจะใช้ได้ทั้งเมือง หรือทำลายทั้งเมืองได้ภายในพริบตา เขาย่อมอยากรู้ว่า "แล้วพลังงานนี้มาจากที่ไหน" "นี่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์แล้ว มันเวทมนตร์ชัด ๆ " ถ้าเราพูดกันจริง ๆ เขาก็พูดถูกนะครับ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ ในยุคศตวรรษที่ 19 ของเขานั้น ไม่มีความรู้เรื่องกัมมันตรังสี หรือฟิสิกส์นิวเคลียร์อยู่ด้วย ในยุคของเขา ต่อให้ทำนายอนาคตอย่างไร ก็ไม่มีใครทำนายเรื่องรังสีเอ็กซ์ หรือระเบิดปรมาณูได้ อย่าว่าแต่ทฤษฎีสัมพันธภาพ หรือกลศาสตร์ควอนตัมเลยครับ ก็อย่างที่อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก พูดไว้ "เทคโนโลยีล้ำหน้าล้ำสมัย กับเวทมนตร์นั้นแยกกันไม่ออก" แล้วเราจะเตรียมตัวรับมือ กับอนาคตที่เหมือนเป็นเวทมนตร์ เหมือนอย่างที่ในสายตาคน จากศตวรรษที่ 19 มองเราได้อย่างไร เราอาจคิดว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเทคนิคการวิเคราะห์ที่ก้าวหน้า จะช่วยให้เราคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำขึ้น เมื่อเทียบกับคนในศตวรรษที่ 19 ซึ่งก็ไม่ผิดหรอกครับ แต่อย่าลืมว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของเรา ก็ยังก่อให้เกิดความท้าทาย ที่ซับซ้อนและคาดเดาไม่ถูกด้วย สำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป การพยายาม จินตนาการถึงเรื่องที่น่าทึ่งเกินจินตนาการ มันจะยากขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะครับ คำถามก็คือ แล้วเราจะทำได้อย่างไร จริง ๆ แล้ว เราได้คำตอบ ที่พอจะเข้าท่ามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่วางรากฐาน ให้กับโลกสมัยใหม่ของเราแล้วล่ะครับ ช่วงเวลานี้ที่เกิดการพัฒนาและการคิดค้น เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ งานเขียนแนวใหม่ อย่างนวนิยายวิทยาศาสตร์ ก็เกิดขึ้นในแวดวงวรรณกรรม จูลส์ เวิร์น, แอช.จี. แวลส์ และนักคิดคนอื่น ๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งประดิษฐ์ในอดีต ทำให้พวกเขาสร้างงานเขียนแสนอลังการ ที่บรรยายถึงขอบเขตใหม่ ของศาสตร์ต่าง ๆ ของมนุษย์ และตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 จวบจนถึงศตวรรษที่ 21 นักเล่าเรื่องเหล่านี้ก็ยังคง แบ่งปันภาพอนาคตของพวกเขา และคาดเดาอนาคตของโลกที่เราอาศัยกันต่อมา อย่างถูกต้องในหลาย ๆ แง่มุม ใน "โลกวิไลซ์" (Brave New World) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1932 อัลดัส ฮักซ์ลีย์ ทำนายเรื่องยาต้านโรคซึมเศร้า นานก่อนที่ยาจำพวกนี้ จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ในปี ค.ศ. 1953 เรย์ แบรดบิวรีย์ ทำนายเรื่องหูฟังใน "ฟาเรนไฮต์ 451" เขาเรียกมันว่า "ปลอกวิทยุ" และในเรื่อง "2001: สเปซ โอดิสซี่" อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก บรรยายถึง จอแสดงข่าวสารฉบับพกพา ไว้ในปี ค.ศ. 1968 งานที่มักจะมีทั้งเรื่องบันเทิง และการสะท้อนสังคมเช่นนี้ เราถูกชี้ชวนให้หยุดคิดกังขาชั่วครู่ แล้วลองคิดถึงผลที่จะตามมา เมื่อแนวคิดคุ้นเคยและที่ถูกปลูกฝังมานาน เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะว่าไป นวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ ทำให้คำพูด ของนักปรัชญา มีแชล ฟูโก เป็นจริง "ผมไม่ใช่ศาสดา หน้าที่ผมคือ การสร้างหน้าต่างจากที่ที่เคยเป็นกำแพง" โดยไม่ต้องผูกยึดกับแนวคิดปัจจุบัน และการสรุปว่าอะไรที่เป็นไปได้บ้าง นิยายวิทยาศาสตร์กลายเป็น เครื่องมือมีประโยชน์ที่สอนให้เราคิดนอกกรอบ นักอนาคตหลายคนตระหนักถึงเรื่องนี้ดี บางคนก็เริ่มที่จะเชิญ บรรดานักเขียนเหล่านี้มาร่วมงาน เมื่อไม่นานมานี้เอง โครงการที่ใช้ชื่อว่า รู้แล้ว (iKnow) เสนอสถานการณ์ ที่คล้ายคลึงกับเรื่องในนวนิยายวิทยาศาสตร์มาก ยกตัวอย่างสถานการณ์เช่น การค้นพบอารยธรรมต่างดาว การพัฒนาการสื่อสารให้คนและสัตว์ สื่อสารกันได้อย่างไร้พรมแดน การยืดชีวิตคนให้ยืนยาวมากขึ้น ตกลงแล้ว อนาคตเราจะเป็นยังไงหรือครับ แน่ละ ไม่มีใครรู้ได้แน่นอน แต่นวนิยายวิทยาศาสตร์ ก็พอช่วยบอกความเป็นไปได้ให้กับเรา สุดท้ายแล้ว มันก็ขึ้นอยู่กับเราละครับ ว่าจะทำเรื่องไหนให้กลายมาเป็นความจริง