คุณอาจจะไม่รู้จักผมก็ได้ แต่ผมเป็นหนึ่งใน .01 เปอร์เซ็นต์ ของพวกที่คุณได้ยินหรืออ่านเรื่องราวมา และโดยนิยามที่สมเหตุผล ผมเป็นอภิมหาเศรษฐี และคืนนี้ สิ่งที่ผมต้องการทำ คือ พูดตรงถึง อภิมหาเศรษฐีคนอื่น ๆ คือพูดกับพวกผมนั่นแหละ เพราะเหมือนกับว่า ถึงเวลาที่พวกเราทุกคน จะต้องมาคุยกันแล้ว เช่นเดียวกับอภิมหาเศรษฐีคนอื่น ๆ ผมก็เป็นนักทุนนิยมที่หยิ่ง ที่ไม่เคยรู้สึกเสียใจ ผมได้ก่อตั้ง ร่วมก่อตั้ง หรือให้ทุน กับมากกว่า 30 บริษัท ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง ผมเป็นนักลงทุนนอกครอบครัวคนแรกใน Amazon.com ผมร่วมก่อตั้งบริษัทชื่อ เอควอนทีฟ ซึ่งขายให้ไมโครซอพท์ ไปในราคา 6.4 พันล้านเหรียญ เพื่อนผม และตัวผม เราเป็นเจ้าของธนาคาร ผมบอกคุณเรื่องนี้ --(เสียงหัวเราะ)-- ไม่น่าเชื่อใช่ไหมล่ะ ผมบอกคุณเรื่องนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ชีวิตผม ก็เหมือนกับอภิมหาเศรษฐีส่วนใหญ่ ผมมีมุมมองที่กว้างขวาง ในเรื่องระบบทุนนิยม และธุรกิจ ผมได้รางวัลอย่างที่เรียกได้ว่าบ้าคลั่ง จากสิ่งนั้น ผมมีชีวิตที่ท่านทั้งหลายส่วนใหญ่ ไม่สามารถแม้แต่จะจิตนาการได้ บ้านหลายหลัง เรือยอร์ช เครื่องบินส่วนตัว และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่พูดกันตรง ๆ ผมไม่ได้เป็นคนฉลาดที่สุด ที่คุณเคยพบ ที่แน่ ๆ ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่ทำงานหนักที่สุด ผมเป็นนักเรียนระดับปานกลาง ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรเลย ผมไม่สามารถเขียนโปรแกรมง่าย ๆ ได้ โดยแท้จริงแล้ว ความสำเร็จของผม เป็นผล ของโชคอันใหญ่หลวง ที่ได้เกิดในที่ดี ที่ได้อยู่สภาพแวดล้อมเหมาะสม ในเวลาที่ลงตัว แต่จริง ๆ แล้ว ผมก็เก่งมากในสองเรื่อง หนึ่ง ผมรับความเสี่ยงได้สูงเป็นพิเศษ และอีกอย่างหนึ่ง คือผมรู้สึกได้ไว มีลางสังหรณ์ดี ต่อเรื่องที่จะเกิดในอนาคต และผมคิดว่าลางสังหรณ์เกี่ยวกับ เรื่องในอนาคตนั้น เป็นปัจจัยสำคัญของผู้ประกอบการที่ดี แล้วผมเห็นอะไรในอนาคตของเราในวันนี้หรือ คุณจะถามใช่ไหมครับ ผมเห็นคราดของชาวไร่ชาวนา (Pitchfork) อย่างเช่น ที่ฝูงชนคนซึ่งกำลังโกรธเกรี้ยว เขาถือกัน เพราะในขณะที่อภิมหาเศรษฐี อย่างพวกเรา กำลังใช้ชีวิตเกินกว่าความฝันของผู้คน เพื่อนประชากรของเราอีก 99 เปอร์เซ็นต์ กำลังถอยห่างไปอยู่ข้างหลัง และห่างไกลไปเรื่อย ๆ ในปี 1980 หนึ่งเปอร์เซ็นต์บนสุด ของคนอเมริกัน มีส่วนแบ่งราวแปดเปอร์เซ็นต์ ของรายได้ประชาชาติ ขณะที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกันด้านล่าง มีส่วนแบ่ง 18 เปอร์เซ็นต์ แต่สามสิบปีถัดมา ซึ่งคือวันนี้ หนึ่งเปอร์เซ็นต์ส่วนบนสุดนั้น กลับมีส่วนแบ่งเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ส่วนล่าง 50 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนแบ่ง 12 หรือไม่ก็ 13 เปอร์เซ็นต์ ถ้าแนวโน้มยังคงเป็นอยู่อย่างนี้ พวกคนส่วนบนสุดหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ก็จะมีส่วนแบ่ง เกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ประชาชาติ ในอีก 30 ปี ขณะที่ส่วนล่าง 50 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกัน จะมีส่วนแบ่งเพียงแค่หกเปอร์เซ็นต์ เห็นไหมครับ ปัญหานั้นไม่ใด้เกี่ยวกับว่า เรามีความไม่เท่าเทียมกันอยู่บ้างเล็กน้อย ความไม่เท่าเทียมกันบ้างเล็กน้อยนั้น เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุนนิยมประชาธิปไตย ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ปัญหาคือ ความไม่เท่าเทียมกันนั้น กำลังอยู่ ณ จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมันก็แย่ลงทุกวัน และถ้าหากความรํ่ารวย อำนาจ และ รายได้นั้น ยังคงกระจุกตัว อยู่ที่ส่วนยอดสุด สังคมของเราก็จะเปลี่ยนจาก ประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ไปเป็น สังคมเจ้าขุนมูลนายยุคใหม่ เหมือนเช่นฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 นั่นคือฝรั่งเศสในอดีต ก่อนเกิดการปฏิวัติ ที่มาพร้อมกับฝูงชนที่โกรธกริ้วพร้อมและคราด ผมจึงมีข้อความส่งถึงเพื่อนอภิมหาเศรษฐี และอภิมหึมามหาเศรษฐีทั้งหลาย และสำหรับใครก็ตามที่ใช้ชีวิต ในโลกฟองสบู่ที่มีรั้วล้อมรอบอยู่นั้น จงตื่นขึ้น ตื่นขึ้นเถิด สภาวะเช่นนี้มันอยู่ได้ไม่นาน เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรบางอย่าง เพื่อแก้ไข ความไม่เท่าเทียมที่เห็นชัดเจนในสังคมของเรา คราดนั้นก็จะหันมาหาเรา เพราะไม่มีสังคมเปิดแบบเสรีใด ๆ จะทนอยู่ได้นานกับ ความไม่สมดุลย์ทางเศรษฐกิจ ที่พุ่งสูงแบบนี้ได้ มันไม่เคยเกิดขึ้น และไม่มีตัวอย่างมาก่อน คุณให้ผมดูสังคมที่มีความแตกต่างกันสูง แล้วผมก็จะให้คุณดู รัฐตำรวจ หรือไม่ก็ การจลาจล คราดจะตรงมาหาเรา ถ้าเราไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ คำถามนั้นไม่ใช่ว่ามันจะเกิดหรือไม่ แต่เป็น เมื่อไหร่ และมันจะเลวร้ายมาก เมื่อมันเกิดขึ้น กับทุกคน โดยเฉพาะคนอย่างพวกเรา อภิมหาเศรษฐี ผมรู้ตัวว่าเรื่องของของผมฟังดูราวกับ ผมเป็นนักเสรีนิยมโลกสวย ผมไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ผมไม่ได้ถกเถียงเรื่องศีลธรรม ว่าความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจนั้นผิด สิ่งที่ผมถกเถียง คือ ความไม่เท่าเทียมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นความโง่เขลา และสุดท้ายก็จะทำร้ายตัวเอง ความไม่เท่าเทียมที่สูงขึ้น ไม่ได้แค่เพียง เพิ่มความเสี่ยงของเราจากคราด แต่มันยังเป็นอันตรายต่อธุรกิจอีกด้วย ต้นแบบสำหรับเรา คนรวย ควรเป็นเฮนรี ฟอร์ด เรารู้กันว่าฟอร์ดให้ค่าแรง 5 ดอลลาร์ ต่อวัน ซึ่งเป็นสองเท่าของค่าแรงทั่วไปในเวลานั้น เขาไม่ได้เพียงเพิ่มผลผลิต ของโรงงานของเขา แต่เขาได้เปลี่ยน คนงานผลิตรถยนต์ที่ถูกเอาเปรียบ ที่ยากจน ให้กลายเป็นคนชั้นกลางที่มีกินมีใช้ มีปัญญาซื้อผลิตภัณฑ์ ที่พวกเขาผลิตขึ้นเองได้ ฟอร์ดหยั่งรู้สิ่งที่เราเพิ่งจะตระหนักว่ามันเป็นจริง ที่จะต้องมองเศรษฐกิจให้เป็นระบบนิเวศน์ ซึ่งมีลักษณะพิเศษแบบเดียวกับ ระบบป้อนกลับ (Feedback loops) ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไป ในระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ เป็นระบบป้อนกลับ ระหว่าง ลูกค้าและธุรกิจ การขึ้นค่าจ้างเป็นการเพิ่มอุปสงค์ ซึ่งจะทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งจะย้อนกลับมายัง ค่าจ้างที่สูงขึ้น อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และกำไรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งวงจรการเพิ่มความมั่งคั่งอย่างสร้างสรรนี้ ชัดเจนแล้วว่า เป็นสิ่งที่ขาดหายไป จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทุกวันนี้ และนี่เป็นเหตุผลที่เราจะต้อง ลดความสำคัญของนโยบาย ที่กวาดผลประโยชน์ลงไปให้คนจำนวนหยิบมือ ซึ่งมีอิทธิพลกับทั้งสองพรรคการเมืองมาก แล้วไปโอบอุ้มสิ่งที่ผมเรียกว่า เศรษศาสตร์แบบมิดเดิลเอ้าท์ ซึ่งปฏิเสธ แนวคิดแบบนีโอคลาสสิค ที่ว่า เศรษฐกิจนั้น มีประสิทธิภาพ มีความสัมพันธ์เชิงเส้น เป็นกลไกแน่นอน และโน้มไปสู่ความสมดุลย์และความเป็นธรรม แต่หันไปรับเอาแนวคิดของศตวรรษที่ 21 ที่ว่าเศรษฐกิจนั้น ซับซ้อน ปรับตัวได้ เป็นระบบนิเวศน์ ซึ่งโน้มเอียงจากความสมดุลย์ ไปสู่ความไม่เท่าเทียม ที่ว่าเศรษฐกิจ ไม่มีประสิทธิภาพเลย แต่ก็มีประสิทธิผลได้ ถ้าจัดการให้ดี มุมมองของศตวรรษที่ 21 นี้ ทำให้คุณเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ระบบทุนนิยม ไม่ได้จัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ อย่างมีประสิทธิภาพ มันทำงานโดยการสร้างคำตอบใหม่ ๆ ขึ้นมา ให้กับปัญหาของมนุษย์ อัจฉริยภาพของระบบทุนนิยม ก็คือ มันเป็นระบบการหาวิธีแก้ปัญหาที่มีวิวัฒนาการ มันให้รางวัลกับคนที่แก้ปัญหาให้กับคนอื่น ๆ ความแตกต่างระหว่างสังคมที่ยากจน กับสังคมที่รํ่ารวย ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็คือ ระดับขั้นที่สังคมนั้น ได้สร้างวิธีแก้ปัญหา ในรูปแบบ ของผลิตภัณฑ์ ให้กับประชากรของชุมชนนั้น ผลรวมของการแก้ปัญหา ที่เรามีอยู่ในสังคมของเรา แท้จริง คือ ความมั่งคั่งของเรา และสิ่งนี้ อธิบายได้ว่าทำไมบริษัทเช่น กูเกิล อเมซอน ไมโครซอฟ และ แอปเปิล และนักลงทุน ที่สร้างบริษัทเหล่านั้น ได้มีส่วนช่วยอย่างมาก ให้กับความมั่งคั่งของชาติเรา มุมมองของศตวรรษที่ 21 นี้ ยังทำให้เห็นชัดเจนอีกด้วยว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าจะทำให้เข้าใจได้ดีที่สุดนั้น ก็เป็นเหมือนกับ อัตราความเร็วที่เราใช้ในการแก้ปัญหา แต่อัตราเร็วที่ว่านั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ เรามีคนแก้ปัญหาที่หลากหลาย และมีความสามารถ แค่ไหน และประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วม อย่างจริงจัง มากแค่ไหน ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการ ที่เสนอการแก้ปัญหา และที่เป็นลูกค้า ซึ่งได้ประโยชน์ จากการแก้ปัญหาเหล่านั้น แต่การมีส่วนร่วมอย่างเต็มกำลังนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ต้องใช้ความพยายามและการลงทุนลงแรง ซึ่งเป็นสาเหตุว่า ทำไมเหล่าเขตเศรษฐกิจ ที่เป็นประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ซึ่งมีความมั่งคั่งสูงนั้น มีคุณลักษณะพิเศษ คือการลงทุนขนานใหญ่ ในกลุ่มชนชั้นกลาง และในโครงสร้างพื้นฐาน ที่พวกเขาต้องพึ่งพาอยู่ พวกเรา อภิมหาเศรษฐี จำเป็นต้องเอาวิถีเศรษฐกิจ ที่ผลประโยชน์หลั่งไหลสู่คนหยิบมือนี้ ไปไว้ข้างหลัง ความคิดที่ว่า ยิ่งเราดีขึ้นมากเท่าใด คนอื่นก็จะดีขึ้นด้วยเช่นกันนั้น มันไม่เป็นความจริง มันจะเป็นไปได้อย่างไร ผมหาเงินได้เป็นพันเท่าของค่าแรงโดยเฉลี่ย แต่ผมก็ไม่ได้ซื้อของ มากถึงพันเท่า ใช่ไหมครับ จริง ๆ ผมซื้อกางเกงพวกนี้สองตัว ซึ่ง ไมค์ หุ้นส่วนของผม เรียกมันว่า กางเกงผู้จัดการ ผมอาจจะซื้อกางเกง 2,000 ตัวก็ได้ แต่ผมจะเอามันไปทำอะไรครับ (เสียงหัวเราะ) ผมจะตัดผมได้สักกี่ครั้งกัน ผมจะไปทานอาหารเย็นนอกบ้าน ได้บ่อยแค่ไหนกัน ไม่ว่าอภิมหาเศรษฐีซึ่งมีจำนวนน้อย จะรวยขนาดไหน ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ ไปได้มากกว่านี้ คนชั้นกลางที่มีกินมีใช้เท่านั้น ที่จะทำได้ เช่นนั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเลยงั้นสิ เพื่อนอภิมหาเศรษฐีของผม อาจพูดอย่างนั้น เฮนรี ฟอร์ด อยู่ในยุคสมัยที่ต่างออกไป บางที เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ บางที เราก็สามารถทำอะไรบางอย่างได้ วันที่ 19 มิถุนายน 2013 บลูมเบิร์ก เผยแพร่บทความที่ผมเขียน เรื่อง "กรณีนักทุนนิยมกับค่าแรงขั้นตํ่า 15 ดอลลาร์" หลาย ๆ คนที่นิตยสารฟอร์บ ในหมู่ผู้ที่นิยมชมชอบผมมากที่สุด เรียกมันว่า "ข้อเสนอที่ใกล้จะเพี้ยนของ นิก เฮนัวเออร์" แต่แล้ว แค่เพียง 350 วัน หลังจากที่บทความถูกตีพิมพ์ ผู้ว่าการเมืองซีแอทเทิล เอ็ด เมอร์เรย์ ก็ได้ลงนาม เพิ่มค่าแรงขั้นตํ่าในซีแอทเทิล เป็น 15 ดอลลาร์ ต่อชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าสองเท่า ของอัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศที่ 7.25 ดอลลาร์ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คนที่มีเหตุผลอาจสงสัย มันเกิดขึ้นได้เพราะ กลุ่มคนของเรา ได้เตือนคนชั้นกลางว่า พวกเขาเป็นต้นกำเนิดของการเติบโต และความมั่งคั่ง ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เราเตือนพวกเขาว่า เมื่อคนงานมีเงินมากขึ้น ธุรกิจก็จะมีลูกค้ามากขึ้น และจำเป็นต้องจ้างงานมากขึ้น เราได้เตือนพวกเขาว่า เมื่อธุรกิจ จ่ายค่าจ้างให้คนงานดำรงชีพได้อย่างเพียงพอ ผู้เสียภาษีก็ไม่ต้องรับภาระ ในการอุดหนุนโครงการ แก้ปัญหาความยากจน เช่น การแจกอาหาร การช่วยเหลือทางการแพทย์ และการสนับสนุนค่าเช่าบ้าน ซึ่งคนงานเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับ เราได้เตือนพวกเขาว่า คนงานที่ได้ค่าแรงตํ่า ก็จะจ่ายภาษีน้อย และเตือนว่า เมื่อคุณยกค่าแรงขั้นตํ่าขึ้นมา ทั่วทั้งองค์กรธุรกิจทั้งหมด สุดท้ายธุรกิจเองก็จะได้กำไร และยังสามารถแข่งขันได้ แต่แรงต้านจากกลุ่มหัวโบราณ ก็มีอยู่ เช่นว่า ถ้าขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า ตําแหน่งงานก็จะลดลง ไม่ใช่รึ รวมไปถึงเหล่านักการเมือง ที่ชอบตอกย้ำแนวคิดเรื่องผลประโยชน์ ไหลรินไปหาคนหยิบมือ ก็จะบอกว่า "เอาซิ ถ้าคุณเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแรงงาน แล้วจะเป็นยังไงล่ะ คุณก็จะเหลือกำไรน้อยลง" แต่ คุณแน่ใจอย่างนั้นจริงหรือ เพราะว่ามีหลักฐานบางอย่างที่ขัดแย้งกันอยู่ นับจาก 1980 เป็นต้นมา ค่าจ้างซีอีโอในประเทศเรา พุ่งสูงขึ้นจากราว 30 เท่าของค่าจ้างเฉลี่ย มาอยู่ที่ 500 เท่า นั่นเป็นการขึ้นราคาของการจ้างงาน แต่แล้ว เท่าที่ผมรู้ ผมไม่เคยเห็นบริษัทไหน ใช้บริการซีอีโอต่อจากบริษัทอื่น หรือใช้ระบบอัตโนมัติให้ทำงานสำคัญ ๆ หรือ ส่งออกตําแหน่งงานไปยังประเทศจีน จริง ๆ แล้ว เรากำลังจ้าง ซีอีโอ และผู้บริหารระดับสูง มากเป็นประวัติการ คนทำงานด้านเทคโนโลยี ก็ไม่ต่างกัน รวมถึงคนทำงานภาคการเงิน พวกเขาได้ค่าจ้างเป็นทวีคูณของค่าแรงเฉลี่ย แต่เราก็จ้างพวกเขามากขึ้นและมากขึ้น จึงชัดเจนว่า คุณสามารถขึ้นค่าจ้างได้ และก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น จากการขึ้นค่าจ้างนั้น ผมทราบว่า คนส่วนใหญ่นั้น คิดว่าค่าแรงขั้นตํ่า 15 ดอลลาร์ เป็นการทดลองทางเศรษฐกิจ ที่เพี้ยนและสุ่มเสี่ยง ซึ่งเราเห็นต่างไป เราเชื่อว่า ค่าแรงขั้นตํ่า 15 ดอลลาร์ อย่างที่เมืองซีแอตเติลนั้น แท้จริงเป็นการดำเนินอย่างการต่อเนื่อง ของนโยบายเศรษฐกิจที่สมเหตุผล มันกำลังทำให้เมืองของเรา สามารถเอาชนะเมืองของคุณได้ เพราะว่า คุณเห็นไหม รัฐวอชิงตันนั้นมี ค่าแรงขั้นตํ่า สูงที่สุด ในบรรดารัฐทั้งหลายในประเทศ เราให้คนงานทุกคน 9.32 ดอลลาร์ ซึ่งเกือบจะมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ของค่าแรงขั้นตํ่า 7.25 ของประเทศ แต่ที่สำคัญ นั่นมากกว่า 427 เปอร์เซ็นต์ของ ค่าแรงขั้นตํ่าระดับที่ต่ำสุดของประเทศ สำหรับงานที่ได้ทิป นั่นคือ 2.13 ดอลลาร์ ถ้าผู้ที่ยึดถือแนวคิด ผลประโยชน์ไหลรินนั้นคิดถูก รัฐวอชิงตันก็ควรจะมีการว่างงานเป็นจำนวนมาก ซีแอตเติลก็ควรจะลื่นไถลลงสู่มหาสมุทรแล้ว แต่แล้ว ซีแอตเติล เป็นเมืองใหญ่ในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุด รัฐวอชิงตันกำลังสร้างงานในธุรกิจขนาดเล็ก ในอัตราที่สูงกว่ารัฐใหญ่อื่น ๆ ในประเทศ ธุรกิจภัตตาคารในซีแอตเติล กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำไมหรือ เพราะกฎพื้นฐานของระบบทุนนิยม คือ เมื่อคนทำงานได้เงินมากขึ้น ธุรกิจมีลูกค้ามากขึ้น ก็ต้องการคนงานมากขึ้น เมื่อภัตตาคารจ่ายให้คนทำงานมากพอ คนทำงานเองก็จะมีเงินพอ ที่จะไปทานอาหารตามภัตตาคารได้ ซึ่งดูใช้ได้เลย สำหรับธุรกิจภัตตาคาร มันดีสำหรับธุรกิจภัตตาคาร แต่กระนั้น บางภัตตาคารก็อาจจะมีคำถามว่า มันซับซ้อนเกินกว่าที่ฉันจะทำได้หรือเปล่า ใช่ครับ มันไม่ง่าย มันมีพลวัตมากมายที่ต้องตามให้ทัน แต่ ได้โปรดหยุดต่อต้านโดยความเชื่อที่ว่า ถ้าคนงานค่าแรงตํ่า มีรายได้เพิ่มอีกสักนิด การว่างงานจะพุ่งขึ้นราวกับจรวด และเศรษฐกิจก็จะล้มครืนลงมา มันไม่มีหลักฐานในเรื่องนั้น มันเป็นความเชื่อผิด ๆ ตาม ๆ กันมา เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ไหลริน ที่ว่า ถ้าคนรวยรวยขึ้น แล้วทุกคนก็จะรวยขึ้นด้วย มันเป็นคำกล่าวอ้างที่ถูกสร้างขึ้นมาโดย พวกที่ต่อต้านการขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า ที่กล่าวว่า ถ้าคนจนรวยขึ้นแล้ว จะไม่ดีต่อเศรษฐกิจ เรื่องนี้ไร้สาระ ดังนั้น วาทะกรรมเช่นนี้ ควรถูกลบล้างไปดีกว่าไหม วาทะกรรมที่ว่า คนรํ่ารวยอย่างผม และเพื่อนอภิมหาเศรษฐีของผม เป็นผู้สร้างประเทศนี้ขึ้นมา พวกเรา อภิมหาเศรษฐี รู้ว่า แม้เราไม่อยากจะยอมรับต่อสาธารณชน ว่าหากเราได้เกิดมาในที่อื่น ๆ ไม่ใช่ที่นี่ ในสหรัฐอเมริกา เราก็อาจจะเป็นแค่เพียง คนเท้าเปล่า อยู่ข้างทางลูกรัง ขายผลไม้ มันไม่ใช่ว่า ที่อื่น ๆ ในโลก จะไม่มีผู้ประกอบการเก่ง ๆ แม้กระทั่งพื้นที่ที่ผู้คนยากจนมาก ๆ ใจความมันมีอยู่เพียงว่า ลูกค้าของผู้ประกอบการเหล่านั้น ต้องมีกำลังในการใช้จ่าย ดังนั้น ความคิดนี้จึงเป็น เศรษฐศาสตร์แบบใหม่ การเมืองแบบใหม่ ที่ผมเรียกว่า ระบบทุนนิยมใหม่ ขอให้เราตระหนักไว้เถิดว่า ระบบทุนนิยมนั้น ชนะทางเลือกอื่น ๆ และหากมีผู้คนมาอยู่ร่วมในระบบนี้มากขึ้น ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการ และที่เป็นลูกค้า ระบบนี้ก็จะให้ผลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ของรัฐบาลควรเล็กลง ไม่ใช่โดยการตัดโครงการช่วยเหลือผู้ยากจน แต่โดยการช่วยคนทำงานให้ได้รับเงินมากพอ เพื่อที่เขาเหล่านั้น จะไม่ต้องพึ่งพารัฐอีกต่อไป พวกเราต้องลงทุนให้มากพอในชนชั้นกลาง ให้เศรษฐกิจเรามีความยุติธรรม และมีส่วนร่วมมากขึ้น และเมื่อมีความยุติธรรมมากขึ้น ก็จะแข่งขันกันได้มากขึ้น และเมื่อแข่งขันกันได้มากขึ้น ก็จะมีแนวทางใหม่ ๆ มากขึ้น ในการแก้ปัญหาของผู้คน ซึ่งนั่นคือแรงขับเคลื่อนที่แท้จริง ของการเติบโตและความมั่งคั่ง ระบบทุนนิยม เป็นเทคโนโลยีทางสังคม อันยิ่งใหญ่ที่สุด ที่มีการสร้างกันขึ้นมา เพื่อสร้างความมั่งคั่งในสังคมมนุษยชาติ เมื่อมันถูกบริหารจัดการอย่างดี แต่ระบบทุนนิยมนั้น โดยพื้นฐานแล้ว มีความซับซ้อนและก้าวหน้าทวีคูณ จึงมีแนวโน้มไปสู่ ความไม่เสมอภาค การกระจุกตัว และการพังทลาย ที่มิอาจหยุดยั้งได้ การทำงานของสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ก็คือ การให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อสร้างความมั่งคั่ง ไม่ใช่แค่ช่วยคนเพียงหยิบมิือได้สะสมเงินทอง จริงแล้ว รัฐบาลก็สร้างความมั่งคั่ง และความเจริญ โดยการสร้างเงื่อนไข ที่เอื้อให้ ทั้งผู้ประกอบการ และลูกค้าของเขา เจริญรุ่งเรือง ความสมดุลย์ของอำนาจ ระหว่างนายทุน เช่น ผม กับคนงาน ไม่ใช่เรื่องแย่ในระบบทุนนิยม จริง ๆ แล้วมันจำเป็นสำหรับระบบทุนนิยม โครงการ อย่างเช่น ค่าแรงขั้นตํ่าที่สมเหตุผล การรักษาพยาบาลที่ไม่แพงนัก การได้ค่าจ้างในขณะลาป่วย และการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เหล่านี้มีความจำเป็น ต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ มีความจำเป็นต่อชนการพัฒนาชั้นกลาง เช่น การศึกษา การวิจัยและพัฒนา เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่จำเป็น ที่นายทุนผู้มองการไกล ควรจะนำมาใช้ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต เพราะจริง ๆ แล้ว ไม่มีใคร ได้ประโยชน์จากมัน นอกจากพวกเรา นักเศรษฐศาสตร์หลายคน อาจจะทำให้คุณเชื่อ ว่าวิชาของเขา เป็นศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม แต่ผมไม่เห็นด้วย และผมคิดว่า มันเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ควบคุม และปลูกฝังให้กับสังคม ในเรื่องค่านิยมทางศีลธรรมและความลำเอียง ในเรื่องสถานะและอำนาจ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสาเหตุว่า ทำไมอภิมหาเศรษฐีอย่างผม จึงกระตือรือล้นอยู่เสมอ ในการคิดหาเรื่องราวที่จูงใจ เพื่อบอกเล่าสู่คนอื่น ๆ ว่าทำไมสถานะของเรา เมื่อเทียบเคียงกันแล้ว จึงดีงามและถูกทำนองคลองธรรมกับทุกๆคน เช่น พวกเรานั้นมีความจำเป็นต่อคนอื่น เป็นผู้สร้างงาน แต่พวกคุณต่างหากที่ไม่ใช่ เช่น การลดภาษีให้เรานั้น สร้างความเจริญ แต่การลงทุนเพื่อพวกคุณ จะทำให้หนี้ของเราเพิ่มทวีขึ้น และทำให้ประเทศที่ยิ่งใหญ่ของเราล้มละลาย และเรานั้นมีความสำคัญ แต่คุณไม่สำคัญ หลายพันปีมาแล้ว ที่เรื่องราวเหล่านี้ ถูกเรียกว่า เทวสิทธิราชย์ (divine right) และในปัจจุบันนี้ เรามีเศรษฐกิจไหลริน เราจะนำทั้งหมดนี้มาช่วยตัวเราเอง อย่างชัดเจน และโปร่งใสได้อย่างไร พวกเราอภิมหาเศรษฐี ต้องเข้าใจ ว่าสหรัฐอเมริกา สร้างพวกเราขึ้นมา ไม่ใช่ในทางกลับกัน แต่ให้เห็นว่าชนชั้นกลางที่มั่งคั่ง นั้นเป็นเหตุ ของความเจริญในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มิใช่เป็นผล และเราไม่ควรจะลืมว่า แม้คนที่เก่งที่สุด หากไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่สุด ก็ต้องยืนเท้าเปล่าข้างทางลูกรัง ขายผลไม้ เช่นกัน เพื่อนอภิมหาเศรษฐีทั้งหลาย ผมคิดว่า มันถึงเวลาแล้ว ที่จะให้คำมั่นสัญญากับประเทศของเราอีกครั้ง ที่จะให้คำมั่นสัญญา ต่อระบบทุนนิยมใหม่ ซึ่งสนับสนุนการมีส่วนร่วมและประสิทธิภาพ เป็นระบบทุนนิยม ที่จะช่วยให้มั่นใจว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะยังคง มีพลวัตและรุ่งเรืองที่สุดในโลก ขอให้เราคุ้มครองอนาคตของตัวเราเอง ลูกหลานของเรา และลูกหลานของพวกเขา หรือไม่เช่นนั้น เราอาจเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย ซ่อนตัวอยู่ในอาณาจักรล้อมรั้วของเรา หรือในโรงเรียนเอกชนชั้นนำ หรือหาความสุขจากเครื่องบินส่วนตัว และเรือยอร์ชของเรา -- เรื่องพวกนั้นน่ะบันเทิงใจ -- แต่เตรียมรับมือ คราดจากชาวนาไว้ได้เลย ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)