ฉันยังจำได้ถึงครั้งแรกที่ฉันรู้ว่า ฉันกำลังจะมาพูดที่ TED ฉันวิ่งข้ามโถงไปยังห้องเรียนของฉัน เพื่อบอกนักเรียนของฉันว่า พวกเธอเชื่อไหมล่ะ ว่าฉันได้รับเชิญให้ไปพูดที่ TED ปฏิกริยาของพวกเขาไม่ใช่สิ่งที่ฉันคิดไว้เลย ทั้งห้องเงียบกริบ "TED Talk? หมายถึงที่โค้ชให้พวกเราดู เกี่ยวกับความเพียรพยายาม หรือที่เกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ที่ทำสิ่ง เจ๋งๆ กับหุ่นยนต์ใช่รึเปล่า?" มูฮัมหมัดถาม "ใช่ แบบนั้นแหละ" "แต่โค้ช คนพวกนั้นสำคัญและฉลาดจริงๆ" (เสียงหัวเราะ) "ฉันรู้" "แต่โค้ช ทำไมโค้ชถึงจะไปพูดล่ะ โค้ชเกลียดการพูดในที่สาธารณะไม่ใช่หรือ?" "ใช่" ฉันยอมรับ "แต่มันสำคัญที่จะต้องพูดเกี่ยวกับพวกเรา เรื่องการเดินทางของพวกนาย และการเดินทางของฉัน ทุกคนจำเป็นต้องรู้ นักเรียนในโรงเรียนกลุ่มผู้ลี้ภัย ที่ฉันก่อตั้ง ได้ส่งเสียงให้กำลังใจ "เยี่ยมเลย มันต้องออกมาดีแน่!" (เสียงหัวเราะ) มีคนกว่า 65.3 ล้านคนที่ถูกบังคับให้ออกจาก บ้านเกิดของพวกเขาเพราะสงครามหรือการข่มเหง จำนวนที่เยอะที่สุดคือ 11 ล้านคน ซึางย้ายมาจากซีเรีย 33,952 คนต้องหนีออกจากบ้านเกิดของตนทุกวัน คนส่วนมากยังคงอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งสภาพที่ค่ายนั้นไม่สามารถให้นิยามได้ว่า มีมนุษยธรรมใดๆ เลย พวกเรากำลังเข้าร่วมในการทำลายคนเหล่านี้ พวกเราไม่เคยเจอตัวเลขผู้ลี้ภัย สูงเท่านี้มาก่อน นี่คือจำนวนผู้ลี้ภัยที่มากที่สุดนับตั้งแต่ สงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนี้ ฉันจะบอกคุณว่าทำไมประเด็นนี้ถึง สำคัญสำหรับฉัน ฉันเป็นคนอาหรับ ฉันเป็นผู้อพยพ ฉันเป็นมุสลิม ฉันใช้เวลา 12 ปีที่ผ่านมาทำงานกับผู้ลี้ภัย โอ้ และฉันยังเป็นเกย์ด้วย นี่ทำให้ฉันเป็นที่ชื่นชอบมากในทุกวันนี้ (เสียงหัวเราะ) แต่ฉันเป็นลูกสาวของผู้ลี้ภัย คุณยายของฉันออกจากซีเรียในปี 1964 ในช่วง ที่ซีเรียตกอยู่ภายใต้ระบอบอัสซาดครั้งแรก เธอตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนตอนที่เธอเก็บของ พร้อมกับลูกทั้ง 5 คนของเธอ เพื่อไปยังจอร์แดน โดยไม่รู้ว่าอะไรรออยู่ข้างหน้าสำหรับเธอ และครอบครัวของเธอ คุณตาของฉันตัดสินใจจะอยู่ต่อ ท่านไม่เชื่อ ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายนัก หนึ่งเดือนต่อมา ท่านย้ายตามยายมา หลังจากน้องชายของท่านถูกลงโทษอย่างทรมาน และโรงงานของท่านถูกยึดโดยรัฐบาล พวกท่านตัดสินใจสร้างชีวิตที่นี่โดยเริ่มจาก ความยากลำบาก จนกลายเป็นพลเมืองจอร์แดนที่ร่ำรวย และเป็นอิสระ ฉันเกิดที่จอร์แดนในอีก 11 ปีต่อมา มันสำคัญมากสำหรับคุณยายของฉันที่พวกเราจะ รู้ความเป็นมา และการเดินทางของพวกเรา ฉันอายุ 8 ขวบตอนท่านพาฉันไปเยี่ยมค่าย ผู้ลี้ภัยครั้งแรก ฉันไม่เข้าใจว่าทำไม ฉันไม่รู้ว่าทำไมมันถึงสำคัญกับท่านนักหนา ในการที่เราจะไปที่นั่น ฉันจำได้ว่าตัวเองเดินเข้าไปในค่าย จับมือท่านไว้ และท่านบอกว่า "ไปเล่นกับเด็กๆ สิ" ระหว่างที่เธอเยี่ยมผู้หญิงในค่าย ฉันไม่ต้องการทำแบบนั้น เด็กพวกนั้นไม่เหมือนกับฉัน พวกเขาจน อาศัยอยู่ในค่าย ฉันปฏิเสธ เธอคุกเข่าลงข้างฉัน และพูดด้วยเสียงจริงจังว่า "ไป" และอย่ากลับมาจนกว่าหลานจะเล่นกับเด็กๆ แล้ว อย่าแม้แต่จะคิดว่าเด็กพวกนั้นต่ำต้อยกว่าหลาน หรือหลานฉลาดจนไม่ต้องเรียนรู้อะไรจากพวกเขา" ฉันฝืนใจเดินเข้าไป ฉันไม่อยากจะทำให้คุณยายผิดหวัง 2-3 ชั่วโมงต่อมา ฉันเดินกลับมา ใช้เวลาเล่นซอกเกอร์กับเด็กๆ ในค่าย พวกเราเดินออกจากค่าย และฉันตื่นเต้นมากทีจะเล่าให้ เธอฟังว่าฉันมีช่วงเวลาที่ดีแค่ไหน และเด็กพวกนั้นมหัศจรรย์มากแค่ไหน "ฮะรอม" ฉันพูดเป็นภาษาอารบิก "พวกเขาช่างน่าสงสาร" "พวกเราต่างฮะรอม(บาป)" เธอใช้คำเดิมแต่มี ความหมายที่แตกต่างออกไป แปลว่าพวกเราต่างมีความผิดบาปกันทั้งสิ้น "อย่าสงสารพวกเขา จงเชื่อในพวกเขา" ฉันไม่เคยคิดแบบนั้น จนกระทั่งฉันออกจากบ้านเกิดมายังสหรัฐฯ ฉันถึงเพิ่งตระหนักถึงผลกระทบในคำพูดนั้น หลังจากเรียนจบ ฉันสมัครและได้รับสถานะ ลี้ภัยทางการเมือง เพราะฉันเป็นสมาชิกของกลุ่มแบบนี้ คนบางคนอาจจะไม่ตระหนักถึง แต่คุณสามารถโดนประหารชีวิตได้ในบางประเทศ เพราะคุณเป็นเกย์ ฉันต้องยอมละทิ้งสถานะพลเมืองจอร์แดน นั่นเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดเท่าที่ฉัน เคยทำมา แต่ฉันไม่มีทางเลือกอื่น ประเด็นคือ เมื่อคุณพบว่าตนเองต้องเลือก ระหว่างบ้านกับการมีชีวิตรอด คำถามที่ว่า "คุณมาจากไหน?" เริ่มซับซ้อนขึ้น ผู้หญิงซีเรียที่ฉันเพิ่งพบ ในค่ายผู้ลี้ภัยที่กรีซ อธิบายเรื่องนี้ได้ชัดเจน เมื่อเธอนึกถึงวินาทีที่เธอตระหนักว่าเธอ ต้องหนีออกจากอเลปโป "ฉันมองออกไปนอกหน้าต่าง และมันไม่เหลืออะไรเลย มีแต่เศษหิน ปูน เต็มไปหมด ไม่มีร้านค้า ถนน หรือโรงเรียน ทุกอย่างหายไปจนหมดสิ้น ฉันอยู่ในอพาร์ตเม้นท์ของฉันหลายเดือน ฟังเสียงระเบิดที่ถูกทิ้งลงมา และมองดูผู้คนล้มตาย แต่ฉันมักจะคิดว่ามันจะต้องดีขึ้น ไม่มีใครบังคับให้ฉันออกจากที่นี่ ไม่มีใครพรากบ้านไปจากฉันได้ และฉันไม่รู้เลยว่าทำไมเมื่อฉันมองออกไป ในตอนเช้าของวันนั้น ฉันถึงตระหนักว่าหากฉันไม่ออกจากที่นี่ ลูกทั้งสามคนของฉันต้องตาย ดังนั้น พวกเราจึงหนีออกมา พวกเราหนีมาเพราะว่าฉันพวกเราต้องทำ ไม่ใช่เพราะพวกเราอยากทำ มันไม่มีทางเลือกอื่น" เธอพูด มันยากที่จะเชื่อว่าที่ไหนเป็นที่ของคุณ เมื่อคุณไม่มีบ้านอีกต่อไป เมื่อประเทศของคุณผลักไสคุณด้วยความกลัว หรือการข่มเหงรังแก หรือเมืองที่คุณเติบโตถูกทำลายจนหมดสิ้น ฉันไม่รู้สึกว่าฉันมีบ้านอีกต่อไป ฉันไม่ได้เป็นพลเมืองจอร์แดนอีกต่อไป แต่ฉันก็ไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกันเช่นกัน ฉันรู้สึกถึงความโดดเดี่ยวเดียวดาย ซึ่งยังคงยากที่จะหาคำใดมาบรรยายในวันนี้ หลังจากเรียนจบ ฉันต้องการที่จะหาที่ๆ ฉันจะเรียกว่าบ้านได้ ฉันเดินตะลอนยังรัฐต่างๆ และสุดท้ายก็จบลงที่นอร์ธแคโรไลนา คนใจดีที่สงสารฉัน เสนอจ่ายค่าเช่า ซื้ออาหารหรือสูทให้ สำหรับการสัมภาษณ์งานใหม่ มันกลับทำให้ฉันรู้สึกโดดเดี่ยว และไร้ความสามารถมากกว่าเดิม จนกระทั่งฉันเจอคุณซาร่า คริสตศาสนิกชนชาวใต้ที่ให้งานฉัน และนั่นทำให้ฉันเริ่มเชื่อในตัวเอง คุณซาร่าเป็นเจ้าของร้านอาหารในภูเขา ของนอร์ธแคโรไลนา ฉันคิดว่า เป็นเพราะการอบรมสั่งสอน ที่เป็นพิเศษ และการศึกษาจากเซเว่นซิสเตอร์ จึงทำให้เธอจ้างฉันให้บริหารร้านอาหาร ฉันคิดผิด ฉันเริ่มต้นจากการล้างจาน ล้างห้องน้ำและย่างเนื้อ ฉันอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้ฉันเห็นคุณค่าของการขยันทำงาน แต่ที่สำคัญที่สุด ฉันรู้สึกมีคุณค่า และเป็นที่ยอมรับ ฉันฉลองคริสมาสต์กับครอบครัวของเธอ และเธอพยายามที่จะถือศีลอดกับฉัน ฉันจำได้ว่าตนรู้สึกกังวลมากในการเปิดเผย เพศสภาพให้เธอรู้ อย่างที่รู้ เธอเป็นคริสตศาสนิกชนชาวใต้ ฉันนั่งอยู่บนโซฟาข้างเธอ และพูดว่า "คุณซาร่า คุณรู้ใช่ไหมว่าฉันเป็นเกย์" คำตอบของเธอคือสิ่งที่ฉันจะไม่มีวันลืม "ไม่เป็นไรเลย ที่รัก แค่อย่ามั่วไปทั่วก็พอ" (เสียงหัวเราะ) (เสียงปรบมือ) ในที่สุดฉันย้ายไปที่แอตแลนตา ยังคงพยายามหาบ้านของฉัน การเดินทางของฉันเริ่มเปลียนทิศทาง ในช่วง 3 ปีต่อมา หลังจากที่ฉันพบกลุ่มเด็กๆ ผู้ลี้ภัย เล่นซอกเกอร์กันข้างนอก ฉันเลี้ยวผิดทางไปยังอพาร์ตเม้นท์ และเห็นเด็กเหล่านั้นเล่นซอกเกอร์กัน อยู่ข้างนอก ใช้เท้าเปลือยเปล่าเตะลูกซอกเกอร์ ที่ขาดรุ่งริ่ง และใช้หินตั้งไว้เป็นโกล ฉันมองพวกเขาเป็นเวลาเกือบชั่วโมง และฉันก็ยิ้มออกมา เด็กพวกนี้ทำให้ฉันระลึกถึงบ้าน พวกเขาทำให้ฉันนึกถึงตอนที่ฉันเล่นซอกเกอร์ บนถนนในจอร์แดนกับพี่ชายและลูกพี่ลูกน้อง ฉันตัดสินใจเข้าไปเล่นกับพวกเขาในที่สุด พวกเขาประหลาดใจเล็กน้อยกับ การที่จะให้ฉันร่วมเล่นด้วย เพราะพวกเขาคิดว่าผู้หญิงเล่นไม่เป็น แต่แน่นอนว่าฉันเล่นเป็น ฉันถามว่าพวกเขาเคยเล่นเป็นทีมไหม พวกเขาตอบว่าไม่เคย แต่อยากจะลองเล่นดู ฉันชนะพวกเขา และพวกเราก็เริ่มตั้งทีมแรกกัน กลุ่มเด็กเหล่านี้มอบช่วงเวลาเกี่ยวกับ ผู้ลี้ภัย ความยากจน และมนุษยธรรมให้ฉัน 3 พี่น้องจากอัฟกานิสถาน รูฮัลลาห์ นูรัลลาห์ และซาบิลลาห์ เล่นเป็นตัวหลัก ฉันไปสายในวันหนึ่งและพบว่า สนามนั้นว่างเปล่า ฉันกังวลมาก ทีมของฉันรักการฝึกซ้อม มันผิดปกติสำหรับพวกเขา ที่จะพลาดการฝึก ฉันออกจากรถ และเด็ก 2 คนก็วิ่งออกมา จากด้านหลังกองขยะ โบกมือให้ฉันอย่างลนลาน "โค้ช รูห์ถูกตี มีแต่เลือดเต็มไปหมด" "เธอหมายความอย่างไรที่บอกว่าเขาถูกตี?" "พวกเด็กนิสัยไม่ดีมาและตีเขา โค้ช "ทุกคนหนีไปหมด พวกเขากลัว" พวกเราโดดขึ้นรถและขับไปยัง อพาร์ตเมนท์ของรูห์ ฉันเคาะประตู และนูห์เป็นคนเปิด "รูห์อยู่ไหน ฉันต้องคุยกับเขา ดูว่าเขาโอเคไหม" "เขาอยู่ในห้อง โค้ช เขาไม่ยอมออกมา" ฉันเคาะประตู "รูห์ ออกมาเถอะ เราต้องคุยกันนะ ฉันต้องดูว่าเธอโอเคไหม หรือต้องไปโรงพยาบาล" เขาออกมา มีรอยแผลลึกบนศีรษะ ปากฉีก และร่างของเขาสั่นไปหมด ฉันมองเขา และฉันขอให้เด็กๆ เรียกแม่ของพวกเขา เพราะว่าฉันต้องการไปโรงพยาบาลกับพวกเขา เด็กๆ เรียกแม่ เธอเดินออกมา ฉันหันไปหาเธอและเธอเริ่มกรีดร้องในภาษาฟาร์ซี เด็กชายทิ้งตัวลงกับพื้นและหัวเราะ ฉันสับสนมาก เพราะว่ามันไม่มีอะไรน่าขำเลย เด็กๆ อธิบายว่าแม่ของพวกเขาพูดว่า "ลูกบอกแม่ว่าโค้ชของลูกเป็นผู้หญิงมุสลิม" จากด้านหลัง ฉันไม่มีอะไรเหมือนเธอเลย (เสียงหัวเราะ) "ฉันเป็นมุสลิม" ฉันพูด หันไปหาเธอ (ภาษาอิสลาม) อ้างถึงการประกาศศรัทธาของชาวมุสลิม ความสับสน และบางทีก็อาจเป็นการเรียกความมั่นใจด้วย เธอตระหนักว่า ใช่ ฉัน ผู้มีท่าทีแบบอเมริกัน ใส่ขาสั้น ไม่คลุมหน้า เป็นชาวมุสลิมจริงๆ ครอบครัวของพวกเขาหนีจากตาลีบัน คนนับร้อยในหมู่บ้านถูกสังหาร พ่อของพวกเขาถูกตาลีบันจับตัวไป และกลับมาในอีก 2-3 เดือนในสภาพที่ไม่ เหมือนเดิมเลย ครอบครัวนี้หนีไปยังปากีสถาน เด็กชายที่โตสุด 2 คนซึ่งมีอายุ 8 และ 10 ปี ในตอนนั้น ต้องทอพรม 10 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว พวกเขาตื่นเต้นเมื่อรู้ว่า พวกเขาได้รับการอนุมัติ ให้ตั้งรกรากใหม่ที่สหรัฐฯ ได้ พวกเขาเป็นหนึ่งในคน 0.1% ที่ได้โอกาสเช่นนี้ พวกเขาได้รางวัลชิ้นใหญ่ เรื่องราวนี้ไม่น่าแปลกเท่าไร ทุกครอบครัวผู้ลี้ภัยที่ฉันทำงานด้วยมัก มีเรื่องเล่าแบบเดียวกันนี้ ฉันทำงานกับเด็ก ที่เห็นแม่ของเขาถูกข่มขืน พ่อถูกตัดนิ้ว เด็กคนหนึ่งเห็นกระสุนเจาะเข้าที่ศรีษะยาย เพราะเธอไม่ยอมให้พวกกบฎเอาตัวเขาไปเป็นทหาร การเดินทางของพวกเขาตามหลอกหลอนพวกเขา แต่สิ่งที่ฉันเห็นทุกวันคือความหวัง การปรับตัว ความมุ่งมั่น ความรักในชีวิต และความซาบซึ้งในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ฉันอยู่ที่อพาร์ตเมนท์ของเด็กๆ หนึ่งคืน เมื่อแม่ของพวกเขากลับมาจากการทำความสะอาด ห้องในโรงแรม 18 ห้องภายในหนึ่งวัน เธอนั่งลง และนูห์นวดเท้าให้เธอ บอกว่าเขาจะดูแลเธอเมื่อเขาเรียนจบ เธอยิ้มอย่างเหนื่อยอ่อน "พระเจ้านั้นประเสริฐ ชีวิตนั้นดี พวกเราโชคดีที่อยู่ที่นี่" สองปีให้หลังมานี้ พวกเราเห็นการเพิ่มขึ้น ของความรู้สึกต่อต้านผู้ลี้ภัย แพร่กระจายทั่วโลก ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเราไม่ทำ อะไรเพื่อป้องกันมัน และไม่มีอะไรหยุดมันได้ ประเด็นไม่ควรอยู่ที่การกันไม่ให้ผู้ลี้ภัย เข้ามายังประเทศของเรา แต่อยู่ที่การไม่บังคับให้พวกเขาต้องออกนอก ประเทศของตนเอง (เสียงปรบมือ) ขอโทษค่ะ (เสียงปรบมือ) ต้องทรมานมากเท่าไหร่ พวกเราต้องทนทุกข์ทรมารอีกแค่ไหน ต้องมีคนอีกกี่คนที่โดนบีบบังคับ ให้ละทิ้งบ้านเกิดของตนเอง พวกเราถึงจะพูดได้ว่า "พอแล้ว"? ร้อยล้านคนหรอ? พวกเราไม่ได้แค่สร้างความอับอาย ตำหนิ และปฏิเสธพวกเขา สำหรับเรื่องไร้สาระที่พวกเขาทำอะไรไม่ได้ พวกเรายังทรมานเขา ทั้งที่พวกเราควรจะต้อนรับเขา สู่ประเทศของเรา เรากลับปลดเปลื้องศักดิ์ศรีของเขา ปฏิบัติราวกับพวกเขาเป็นอาชญากร มีนักเรียนมาขอพบฉันที่ออฟฟิส เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เธอมาจากอิรัก เธอร้องไห้หนักมาก "ทำไมพวกเขาเกลียดเรา?" "ใครเกลียดคุณ?" "ทุกคน ทุกคนเกลียดเราเพราะเราเป็นผู้ลี้ภัย เพราะพวกเราเป็นมุสลิม" ในอดีต ฉันสามารถปลอบนักเรียนได้ว่า คนส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้เกลียดผู้ลี้ภัย แต่ตอนนี้ ฉันทำไม่ได้ ฉันอธิบายไม่ได้ว่าทำไมบางคนพยายามจะดึง ผ้าคลุมหน้าแม่ของเธอ ตอนที่พวกเขาซื้อของกันอยู่ หรือทำไมผู้เล่นอีกทีมเรียกเธอว่า ผู้ก่อการร้าย และบอกให้เธอกลับไปยังที่ๆ เธอจากมา ฉันไม่สามารถรับประกันได้ว่า ว่าการที่พ่อของเธอยอมเสียสละสูงสุด ด้วยการเป็นล่ามให้กองทัพสหรัฐฯ นั้น จะทำให้ผู้คนนับถือเธอเหมือนกับ พลเมืองอเมริกันทั่วไป พวกเราเปิดรับผู้ลี้ภัยจากทั่วโลกน้อยมาก พวกเราให้จัดที่อยู่ให้พวกเขาน้อยกว่า 0.1% 0.1% ที่ว่าเราเห็นว่ามันสำคัญต่อเรา มากกว่าพวกเขา นี่ทำให้ฉันตะลึงจนพูดไม่ออก ว่าทำไมผู้ลี้ภัยถูกมองว่าเป็นสิ่งสกปรก หรือเป็นสิ่งที่อับอาย พวกเขาไม่มีอะไรที่ควรจะละอายเลย พวกเราเฝ้ามองการเจริญเติบโต ในทุกด้านของชีวิตพวกเรา ยกเว้นการเติบโตด้านมนุษยธรรม มี 65.3 ล้านคนโดนบีบบังคับ ให้ออกจากบ้านเกิด เพราะว่าสงคราม นี่เป็นจำนวนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ พวกเราต่างหากที่ควรจะต้องละอายในตนเอง ขอบคุณค่ะ (เสียงปรบมือ)