ฉันอยากแนะนำให้คุณรู้จักสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ราเมือก (Physarum polycephalum) ราสายพันธุ์นี้มีปัญหาวิกฤติอัตลักษณ์ เพราะว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่รา เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ก่อนที่จะเริ่ม มันเป็นหนึ่งในราเมือกที่มีทั้งหมด 700 ชนิด ซึ่งถูกจัดให้อยู่ใน อาณาจักรเดียวกับพวกอะมีบา เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ราเมือกแต่ละเซลล์ จะเกาะกลุ่มอยู่กับเซลล์ของราตัวอื่นๆ เพื่อรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเซลล์ขนาดยักษ์ เพื่อทำให้การใช้ทรัพยากร อย่างเกิดประโยชน์มากที่สุด ดังนั้นราเมือกกลุ่มนึงอาจจะมีเซลล์เป็นพันๆ หรืออาจจะถึงหลายล้านเซลล์ได้ โดยที่ทุกเซลล์ใช้ผนังเซลล์ร่วมกันเพียงอันเดียว ทุกๆ เซลล์ทำงานร่วมกัน เป็นองคาพยพเดียว ตามธรรมชาติของราเมือก คุณอาจพบราเมือกหากินอยู่ตามต้นไม้ในป่า อยู่ตามซากพืชที่ย่อยสลาย แต่คุณก็อาจจะพบราเมือก ในที่อื่นๆได้เช่นกัน เข่น ในห้องปฏิบัติการวิจัย ในห้องเรียน หรือแม้แต่ ในสตูดิโอของศิลปิน ฉันได้มาเจอกับเจ้าราเมือกโดยบังเอิญ เมื่อประมาณห้าปีก่อน เพื่อนนักจุลชีววิทยาคนหนึ่ง ได้มอบจานเพาะเชื้อ ที่มีคราบเล็กๆ สีเหลืองอยู่ข้างในให้ฉัน และบอกให้เอามันกลับไปบ้าน และเล่นสนุกกับมันดู คำแนะนำที่ฉันได้รับก็แค่ มันชอบที่ที่มืดๆ และชื้นๆ และอาหารที่มันชอบ คือ ข้าวโอ๊ต ฉันเป็นศิลปินที่ทำงานมาหลายปี ที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยา หรือพวกกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น งานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรสำหรับฉัน ฉันเคยทำงานกับทั้งพวกพืช พวกแบคทีเรีย แล้วก็หมึกกระดอง รวมถึงแมลงวันผลไม้ ดังนั้นฉันจึงรู้สึกกระตือรือร้น ที่จะนำงานชิ้นใหม่นี้กลับบ้าน แล้วดูซิว่ามันจะทำอะไรได้บ้าง แล้วฉันก็ได้เอาราเมือกกลับมาที่บ้านดู ฉันให้อาหารชนิดต่างๆ แก่ราเมือก เฝ้ามองมันสร้างเครือข่าย มันสร้างการเชื่อมต่อ ระหว่างแหล่งอาหารที่ต่างๆ เฝ้าดูร่องรอยที่มันทิ้งเอาไว้ ที่ช่วยบ่งบอกว่ามันเคยอยู่ตรงไหน แล้วฉันพบว่า ขณะที่เจ้าราเมือก เริ่มเบื่อจานเพาะเชื้อนี้แล้ว มันได้หนีออกมาจากจานเพาะเชื้อ ไปหาที่อยู่ใหม่ที่ดีกว่า ฉันได้บันทึกสิ่งที่ฉันสังเกตเห็น ด้วยเทคนิคการบันทึกภาพแบบย่นย่อเวลา (time-lapse photography) ราเมือกมีอัตราการเจริญเติบโต ประมาณ 1 ซม./ชั่วโมง จึงไม่ง่ายนักที่จะมานั่งดูมันค่อยๆ เติบโต นอกจากว่าคุณจะมีสมาธิขั้นสุดยอด แต่ด้วยเทคนิคดังที่ได้กล่าวไป ฉันจึงได้เห็นพฤติกรรมบางอย่างที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ขณะที่เจ้าราเมือกได้รับอาหารเป็นอย่างดี มันก็ได้เติบโตขยายออกไปสำรวจอาณาเขตใหม่ๆ ในทิศทางต่างๆ ไปพร้อมๆกัน สำรวจไปเรื่อย จนเมื่อมันมาเจอกัน มันต่างรู้ว่า นั่นเป็นที่ที่เคยสำรวจมาแล้ว มันรู้ว่ามันเคยไปที่นั่นมาแล้ว มันจึงถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ และเริ่มออกสำรวจในทิศทางใหม่อีกครั้ง ฉันค่อนข้างประทับใจกับ ความสามารถนี้ของมัน ที่เป็นไปได้อย่างไรที่ ลำพังกลุ่มเซลล์ราเมือก จะสามารถทำแผนที่อาณาเขตของมันได้ มันรู้จักตัวเอง และเคลื่อนไหวราวกับว่า มันมีเจตจำนง ฉันพบว่ามีทั้งงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัย บทความวิชาการ จำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งทั้งหมดมีการอ้างถึง ผลงานอันเหลือเชื่อของเจ้าราเมือกนี้ และฉันก็ตั้งใจจะเล่าเรื่องราว เหล่านั้นบางส่วนให้คุณฟัง ตัวอย่างการทดลองแรก มีทีมนักวิจัยหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองโดย ใส่ราเมือกลงไปจนเต็มทางเขาวงกต ราเมือกทั้งหมดเชื่อมต่อกันรวมตัวกัน เหมือนเป็นเซลล์ขนาดยักษ์หนึ่งเซลล์ หลังจากนั้นทีมนักวิจัยได้ใส่อาหาร ลงไปในเขาวงกตสองตำแหน่ง แน่นอนว่าต้องเป็นข้าวโอ๊ตของโปรด และเจ้าราเมือกก็ทำการสร้างทางเชื่อมต่อ ระหว่างแหล่งอาหารสองแห่งนั้น ราเมือกได้หดตัวจากบริเวณที่ไม่มีอาหาร และบริเวณทางตันทั้งหลาย เป็นไปได้ 4 วิธีที่จะสร้างทางเชื่อมต่อ ครั้งแล้วครั้งเล่า เจ้าราเมือกได้สร้างทางเชื่อมต่อที่สั้นที่สุดเสมอ และเป็นเส้นทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด มันฉลาดมาก ข้อสรุปที่ได้จากการทดลองนี้ ก็คือ เจ้าราเมือกนี้ ถือได้ว่า มีรูปแบบหนึ่งของสติปัญญาขั้นต้น อีกการทดลองหนึ่ง ได้ให้ราเมือกสัมผัสกับอากาศเย็น เป็นช่วงๆ โดยเว้นระยะเวลาที่แน่นอน เจ้าราเมือกนี้ไม่ชอบอากาศเย็น และก็ไม่ชอบสภาพแวดล้อมที่แห้ง เมื่อให้ราเมือกได้สัมผัสกับอากาศเย็นเป็นพักๆ ทุกๆ ครั้ง เจ้าราเมือก จะตอบสนองโดยการเติบโตช้าลง อย่างไรก็ตาม มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่นักวิจัยไม่ได้เปิดสวิตซ์พัดลม เจ้าราเมือกก็ยังคงตอบสนองโดยการเติบโตช้าลง ซึ่งเป็นผลจากการคาดเดาล่วงหน้า ว่าจะได้เจอกับอากาศเย็น มันมีการรับรู้ได้ว่ามันใกล้จะถึงเวลา ที่จะเกิดอากาศเย็นที่มันไม่ชอบ ข้อสรุปที่ได้จากการทดลองนี้ ก็คือ เจ้าราเมือกมีความสามารถในการเรียนรู้ ตัวอย่างการทดลองที่สาม คราวนี้เจ้าราเมือกได้รับโอกาส ให้ออกสำรวจอาณาเขตที่ปกคลุมไปด้วยหย่อมข้าวโอ๊ต มันกระจายตัวออกสำรวจ ในลักษณะแตกกิ่งก้านสาขาออกไป เมื่อมันเจออาหารแต่ละจุด มันก็สร้างการเครือข่ายเชื่อมต่อกัน มันยังคงขยายอาณาเขตต่อไปเรื่อยๆ 26 ชั่วโมงผ่านไป เครือข่ายก็สมบูรณ์ ดูค่อนข้างมั่นคง ระหว่างกองข้าวโอตแต่ละจุด ดูไม่มีอะไรโดดเด่นนักสำหรับการทดลองนี้ จนกระทั่งได้รู้ว่า ข้าวโอ๊ตตรงกลางที่เป็นจุดเริ่มต้นนั้น แสดงถึงตำแหน่งของเมืองโตเกียว และกองข้าวโอ๊ตที่กระจายอยู่รอบๆ ก็คือ สถานีรถไฟรอบๆเมือง เจ้าราเมือกได้ทำสำเนาของ เครือข่ายรถไฟเมืองโตเกียวขึ้นมา (เสียงหัวเราะ) ระบบเครือข่ายอันซับซ้อนที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ โดยอาศัย เคหะชุมชน งานวิศวกรรมโยธา การวางผังเมือง ซึ่งสังคมมนุษย์ได้ใช้เวลา เป็นร้อยปีกว่าจะสร้างขึ้นมา แต่เจ้าราเมือกกลับใช้เวลาเพียงแค่วันเศษๆ ข้อสรุปที่ได้จาการทดลองนี้ ก็คือ เจ้าราเมือกนี้สามารถสร้างเครือข่าย ที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาได้เอง และแก้โจทย์ปัญหาการเดินทางของเซลล์แมนได้ (Traveling salesman problem) มันก็คือ คอมพิวเตอร์ชีวภาพ ดีๆ นี่เอง ด้วยเหตุนี้ มันได้ถูกสร้างเป็นโมเดลเชิงคณิตศาสตร์ ถูกวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นตอน ทั้งถูกแปลงข้อมูลเป็นสัญญาณเสียง ถูกทำซ้ำ ถูกจำลองขึ้นใหม่ ทีมนักวิจัยหลายแห่งทั่วโลก กำลังถอดรหัสการทำงานของพวกมัน เพื่อที่จะได้เข้าใจหลักเกณฑ์ที่มันใช้คิดคำนวณ และนำความรู้เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ ในงานเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ การสร้างโปรแกรม และศาสตร์เกี่ยวกับหุ่นยนต์ ดังนั้น คำถามสำคัญคือ เจ้าราเมือกทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร? มันไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง มันไม่มีสมอง แต่มันยังคงสามารถ แสดงพฤติกรรมเหล่านั้นได้ พฤติกรรมเดียวกับที่เรา ต้องใช้สมองในการสั่งการ ราเมือกสามารถเรียนรู้ สามารถจดจำ สามารถแก้ปัญหา สามารถตัดสินใจได้เอง แล้วสติปัญญาของราเมือกตั้งต้นมาจากจุดไหน? นี่เป็นภาพวีดีโอจากกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งมีกำลังขยายประมาณ 100 เท่า เร่งความเร็วขึ้นประมาณ 20 เท่า ภายในเจ้าราเมือกนี้ มีกระแสการไหลเวียนของของเหลวเป็นจังหวะ สิ่งที่คล้ายกับเส้นเลือดกำลังลำเลียง ชิ้นส่วนเซลล์ สารอาหาร และสัญญาณเคมี ผ่านไปตามกลุ่มเซลล์ขนาดยักษ์นี้ การไหลเริ่มในทิศทางหนึ่ง แล้วก็ไหลย้อนกลับไปอีกทิศหนึ่ง และการไหลเวียนกลับไปมาอย่างสอดคล้องต่อเนื่อง ภายในเซลล์นี้เอง ที่ทำให้เกิด การรับรู้ที่ค่อนข้างซับซ้อน ต่อสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวมัน โดยปราศจากศูนย์สั่งการใดๆภายในเซลล์ นี่คือต้นตอของสติปัญญาของมัน ไม่เพียงแต่เหล่านักวิจัย ในมหาวิทยาลัยที่สนใจในเจ้าราเมือกนี้ ไม่กี่ปีก่อน ฉันได้สร้างกลุ่ม SliMoCo ขึ้นมา ซึ่งย่อมาจาก Slime Mould Collective มันเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย สำหรับผู้ที่ทำการศึกษาราเมือก และผู้ที่สนใจทั่วไป ได้แบ่งปันความรู้และผลการทดลอง จากหลากหลายสาขาอาชีพ และหลากหลายสถาบันศึกษา สมาชิกในกลุ่ม มาโดยสมัครใจ เหล่าสมาชิกได้มาพบเจอกับกลุ่ม SliMoCo เหมือนกับที่เจ้าราเมือกได้เจออาหารโปรดของมัน ในกลุ่มเรามีทั้ง นักวิทยาศาสตร์ นักคอมพิวเตอร์ นักวิจัย แม้แต่ศิลปิน เหมือนกับฉัน สถาปนิก ดีไซน์เนอร์ นักเขียน นักเคลื่อนไหวรณรงค์ และอีกมากมาย ซึ่งน่าสนใจมาก กับความหลากหลาย ของสมาชิกในกลุ่ม ลองมาดูสักสองสามตัวอย่าง สมาชิกที่เป็นศิลปินคนหนึ่ง วาดรูปโดยใช้ราเมือกเรืองแสง สมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งได้ร่วมมือกัน ทำการออกแบบทางอิเล็กทรอนิสก์ ผสานกับการออกแบบทางชีวภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ ศิลปินอีกคน ใช้เจ้าราเมือก เป็นเครื่องมือในการปฏิสัมพันธ์กับชุมชน เพื่อทำแผนที่ของชุมชนนั้น นี่เอง ที่เจ้าราเมือกได้ถูกนำมาใช้โดยตรง ไม่เพียงแต่ในฐานะเครื่องมือที่มีชีวิตเท่านั้น แต่ยังเปรียบได้กับ สัญลักษณ์ที่สื่อถึงวิธีการพูดคุยกัน เกี่ยวกับแรงยึดเหนี่ยวทางสังคม การสื่อสารระหว่างกัน และการให้ความร่วมมือกันในสังคม อีกหนึ่ง กิจกรรมที่สร้างความผูกพันในชุมชน ฉันได้จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับราเมือกนี้มาหลายครั้ง เป็นหนึ่งในวิธีที่สร้างสรรค์ ในการปฏิสัมพันธ์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับมัน ผู้คนได้รับเชิญให้เข้าร่วมและเรียนรู้ เกี่ยวกับความสามารถที่น่าทึ่งของเจ้าราเมือก ผู้เข้าร่วมแต่ละคนจะได้ทำการออกแบบ การทดลองในจานเพาะเชื้อเอง กำหนดสภาพแวดล้อมที่จะให้ราเมือกเจริญเติบโต ดังนั้นพวกเขาก็จะได้ลอง ทดสอบเจ้าราเมือกนี้ดู ทุกคนกลับบ้านไปพร้อมกับราเมือกในจานเพาะเชื้อ และได้รับเชิญให้มาแสดงผลการทดลองเหล่านั้น บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่ม และกลุ่มนี้ก็ทำให้ฉันสามารถ สร้างผลงานร่วมกับคนอื่นๆ กับคนที่น่าสนใจมากมาย ฉันได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตภาพยนตร์อยู่ ในงานสารคดีขนาดยาวเกี่ยวกับราเมือก ขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นสารคดีขนาดยาว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการตัดต่อ และจะได้ฉายในโรงภาพยนตร์เร็วๆนี้ (เสียงหัวเราะ) นอกจากนี้ยังทำให้ฉันได้มีโอกาสทำการทดลอง ซึ่งคิดว่านี่เป็นการทดลองมนุษย์ราเมือกครั้งแรกในโลก นี่เป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ ที่รอตเทอร์ดาม เมื่อปีก่อน เราเชิญให้ผู้ร่วมกิจกรรม ทดลองเป็นราเมือก เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง โดยการให้แต่ละคนมาผูกโยงติดกัน เสมือนเป็นเซลล์ยักษ์หนึ่งเซลล์ และก็ให้พวกเขาทำตัวตามกฎของราเมือก นั่นคือพวกเขาต้องสื่อสารด้วยวิธีการสั่นเป็นจังหวะ ห้ามใช้คำพูดใดๆ พวกเขาต้องปฏิบัติการราวกับว่าเป็นองคาพยพเดียวกัน ไม่มีอัตตา และมีแรงจูงใจในการเคลื่อนที่ และสำรวจสภาพแวดล้อม เพียงเพื่อหาอาหาร ผลที่ตามมา คือ การเดินสะเปะสะปะ ขณะที่กลุ่มคนแปลกหน้า ที่สวมเสื้อเขียนว่า "เป็นราเมือก" ถูกโยงติดกันด้วยเชือกสีเหลือง ค่อยๆ เคลื่อนที่ผ่านสวนของพิพิธภัณฑ์ เมื่อพวกเขาเจอต้นไม้ พวกเขาต้องเปลี่ยนรูปแบบของการเชื่อมต่อกัน และจัดรูปใหม่ในฐานะเป็นองคาพยพเดียว โดยปราศจากการพูดคุย นี่เป็นการทดลองที่น่าขันในหลายๆ แง่มุม มันไม่ได้เกิดจากสมมุติฐานใดๆ เราไม่ได้ต้องการจะพิสูจน์ หรือจะสาธิตอะไร แต่สิ่งที่เราได้รับมา คือ วิธีที่ทำให้คนในวงกว้าง ได้มีส่วนร่วม ในแนวคิดเรื่อง สติปัญญา หน้าที่ การพึ่งตนเอง และได้มอบพื้นที่สบายๆ แก่เรา สำหรับถกเถึยงเกี่ยวกับ สิ่งที่เป็นผลตามมา หนึ่งในสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุด เกี่ยวกับการทดลองนี้ ก็คือ การเสวนาที่เกิดขึ้นตามมา ได้เกิดการชุมนุมอภิปรายกันขึ้นมาเองในสวนนั้น ผู้เข้าร่วมพูดคุยกัน ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิทยาของมนุษย์ เกี่ยวกับความยากลำบากในการปล่อยวาง เกี่ยวกับตัวตนและอัตตาของพวกเขา อีกกลุ่มพูดคุยกันเกี่ยวกับ การสื่อสารกันระหว่างแบคทีเรีย แต่ละคนได้เสนอความเห็น ตามการตีความของพวกเขาเอง และข้อสรุปที่ได้จากการทดลองนี้ คือ ผู้เข้าร่วมที่ รอตเทอร์ดาม ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเวลาที่ได้รับการแจกจ่ายเบียร์ เราไม่ได้ให้อาหารพวกเขาด้วยข้าวโอ๊ตเท่านั้น เราแจกเบียร์ให้พวกเขาอีกด้วย แต่กระนั้น พวกเขาก็ไม่มีประสิทธิภาพ เทียบเท่ากับเจ้าราเมือก สำหรับฉันแล้ว เจ้าราเมือกนี้ เป็นเรื่องราวที่น่าหลงใหล มันน่าหลงไหล ในเชิงชีววิทยา มันน่าสนใจ ในแง่การคำนวณ และมันก็ยังเป็นสัญลักษณ์ เป็นวิธีเชื่อมโยงถึงแนวคิด เรื่องชุมชน พฤติกรรมรวมหมู่ และความร่วมมือกัน งานของฉันหลายอย่างได้ข้อมูลมาจากงานวิจัย ซึ่งวีดิโอนี้ก็เป็นการรำลึกถึงการทดลองเขาวงกต ในอีกแง่มุมหนึ่ง เจ้าราเมือกยังถือเป็นวัตถุดิบสำหรับงานของฉันด้วย มันเป็นผู้ช่วยผลิตทั้งใน งานภาพถ่าย งานพิมพ์ งานแอนิเมชั่น รวมถึง การจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม ในขณะที่เจ้าราเมือกนี้ไม่ได้เลือกเอง ที่จะมาทำงานร่วมกับฉัน แต่มันก็ให้ความร่วมมือดี ฉันสามารถคาดการณ์พฤติกรรมบางอย่าง โดยการทำความเข้าใจวิธีการทำงานของมัน แต่ฉันไม่สามารถควบคุมมันได้ เจ้าราเมือกยังคงทำสิ่งมันอยากทำ ในกระบวนการคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม มันก็มีนิยามความสุนทรีย์ในแบบของมัน รูปแบบกิ่งก้านสาขาที่เราเห็นอยู่นี้ สามารถพบได้ในทุกรูปแบบของสิ่งต่างๆ เป็นสัดส่วนของธรรมชาติ จากดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ไปจนถึงฟ้าผ่า จากแขนงหลอดเลือด ไปจนถึงเครือข่ายเส้นประสาท แน่นอนว่าต้องมีกฎยิ่งใหญ่บางอย่างควบคุมมันอยู่ ในสิ่งมีชีวิตที่เรียบง่ายแต่ซับซ้อนนี้ ไม่ว่าเราจะมาจากสาขาไหน หรือเราจะศึกษามันในแง่มุมใด เราก็ได้เรียนรู้มากมาย จากการเฝ้าสังเกตและการมีปฏิสัมพันธ์ กับเจ้าคราบรอยเปี้ยนที่งดงาม และไม่มีแม้แต่สมองนี้ และนี่ก็คือเรื่องราวของเจ้าราเมือก ( Physarum polycephalum ) ขอบคุณค่ะ (เสียงปรบมือ)