ผมมีคำถามครับ คอมพิวเตอร์เขียนกลอนได้หรือไม่ มันเป็นคำถามที่น่าคิดมาก ๆ คุณลองคิดดูสักหนึ่งนาที จากนั้นก็จะมีคำถามตามมาอีกมากมาย เช่น คอมพิวเตอร์คืออะไร กลอนคืออะไร ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่ผู้คนพยายามหาคำตอบ มาทั้งชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่ใน TED Talk เดียว ดังนั้น เราจะลองหาคำตอบด้วยวิธีอื่นดู ด้านบนนะครับ เรามีบทกลอนอยู่ 2 บท บทหนึ่งถูกเขียนขึ้นโดยมนุษย์ ส่วนอีกบทเขียนขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ ผมจะถามพวกคุณว่าบทไหนเป็นบทไหน เริ่มเลยครับ กลอน 1: เจ้าแมลงวันหนา / เจ้าเริงร่ายามหน้าร้อน / ฝ่ามือเราเลินเล่อ / เผลอปัดถูกตัวเจ้า หรือเรานั้นไม่ / ใช่แมลงเช่นเจ้า / หรือแท้จริงเจ้า / ใช่มนุษย์อย่างเราไม่ กลอน 2: เราสัมผัสได้ / ผู้คนมากมายในชีวิต / ในยามเช้า สังฆราชที่ฉันรังเกียจ / มิใช่ทุกค่ำคืน ที่จะเริ่ม / ทำสิ่งอื่นอันยิ่งใหญ่ (...) เอาล่ะ หมดเวลาครับ ยกมือขึ้นครับ หากคิดว่ากลอนบทแรก เขียนขึ้นโดยมนุษย์ โอเค ส่วนใหญ่นะครับ ยกมือครับ ถ้าคิดว่าบทที่สองต่างหาก ที่เขียนขึ้นโดยมนุษย์ ถือว่ากล้าหาญครับ เพราะว่ากลอนบทแรกนั้นเขียนขึ้นโดย มนุษย์นักกวีที่ชื่อว่า วิลเลียม เบลค ส่วนบทที่สองนั้นเขียนโดยอัลกอริธึม ที่ดึงภาษามาจากหน้าเฟซบุ๊คของผม ในหนึ่งวัน แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่ ตามวิธีที่ผมจะอธิบายต่อไป แต่ก่อนอื่นลองเล่นกันอีกสักเกม เหมือนเดิมครับ คุณมีเวลาอ่านไม่มาก ดังนั้นขอให้เชื่อสัญชาตญาณนะครับ กลอน 1: สิงโตคำราม สุนัขเห่าหอน ช่างน่าสนใจ / ทั้งน่าหลงใหล ที่นกบินไป ใช่เห่าหอนคำราม เรื่องราวตรึงตราของสัตว์น้อยใหญ่ / ตรึงใจในฝัน จะร้องเพลงไปด้วยกัน / หากยังเหลือเรี่ยวแรง กลอน 2: โอ้ จิงโจ้ โลหะ ช็อคโกแลต โซดา / หน้าตาเจ้าช่างสวยใส ไข่มุก กล่องดนตรี ต้นพุทรา ยาแก้ไข้ / พวกเจ้าไงที่พวกเขาพูดถึง (...) หมดเวลาครับ ถ้าคิดว่ากลอนบทแรกเขียนขึ้นโดยมนุษย์ ยกมือขึ้นครับ โอเค แล้วถ้าคิดว่ากลอนบทที่สอง เขียนขึ้นโดยมนุษย์ ยกมือขึ้นครับ ตอนนี้เรามีกันครึ่งต่อครึ่งเลยนะครับ อาจจะยากไปสักหน่อย คำตอบคือ กลอนบทแรกนั้นเรียบเรียง โดยอัลกอริธึมที่ชื่อ Racter ซึ่งถูกสร้างขึ้นราว ๆ ปี ค.ศ. 1970 ส่วนกลอนบทที่สองนั้นเขียนขึ้น โดยชายที่ชื่อ แฟรงค์ โอฮาร่า หนึ่งในนักกวีชาวโลกคนโปรดของผมครับ (เสียงหัวเราะ) สิ่งที่เราเพิ่งทำกันไปคือ ทัวริงเทสต์สำหรับบทกลอน ทัวริงเทสต์ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1950 โดยชายคนนี้ครับ อลัน ทัวริง เพื่อจะตอบคำถามที่ว่า คอมพิวเตอร์คิดได้หรือไม่ อลัน ทัวริงเชื่อว่าหากคอมพิวเตอร์ สามารถพูดคุยโต้ตอบกับมนุษย์ผ่านตัวอักษร ช่ำชองจนมนุษย์ไม่สามารถบอกได้ว่า สิ่งที่ตนกำลังคุยด้วยนั้น คือคอมพิวเตอร์หรือมนุษย์ เท่ากับว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นมีปัญญา ดังนั้น ในปี ค.ศ. 2013 ผมกับเพื่อนชื่อ เบนจามิน เลด เราได้สร้างทัวริงเทสต์ สำหรับบทกลอนแบบออนไลน์ขึ้นมา ชื่อว่า บอทหรือไม่ (Bot or Not) คุณจะลองเข้าไปเล่นดูก็ได้นะครับ จริง ๆ แล้วมันก็คือเกมที่เราเพิ่งเล่นไป จะมีบทกลอนมาให้คุณ ซึ่งคุณไม่ทราบว่ามนุษย์หรือ คอมพิวเตอร์เป็นผู้เขียน แล้วคุณก็ต้องเดา มีคนหลายพันคนเข้าร่วมการทดสอบนี้ แล้วเราก็ได้ผลออกมา ผลคืออะไรครับ ทัวริงกล่าวว่า หากคอมพิวเตอร์สามารถหลอกมนุษย์ 30 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมด ให้เชื่อว่ามันคือมนุษย์ มันก็จะผ่านการทดสอบ เรามีบทกลอนในฐานข้อมูลของบอทหรือไม่ ที่สามารถหลอก 65 เปอร์เซ็นต์ ของผู้อ่านให้คิดว่า กลอนบทนั้นเขียนขึ้นโดยมนุษย์ ดังนั้น ผมคิดว่าเราได้คำตอบแล้วนะครับ ตามตรรกะของทัวริงเทสต์แล้ว คอมพิวเตอร์เขียนกลอนได้หรือไม่ แน่นอนครับ มันทำได้ แต่หากคุณยังรู้สึกไม่สบายใจกับคำตอบ ไม่เป็นไรครับ หากลึก ๆ ในใจของคุณยังรู้สึกต่อต้าน โอเคครับ เพราะเรายังไม่จบกันแค่นี้ ลองเล่นชุดสุดท้ายกันดูครับ เหมือนเดิม คุณอ่านกลอน แล้วบอกผมว่าบทไหนเขียนโดยมนุษย์ กลอน 1: ธงแดง เหตุแห่งธงงาม / และโบว์ / โบว์ของธง / ซึ่งเปี่ยมด้วยเนื้อหา / เพื่อการเปี่ยมเนื้อหา (...) กลอน 2: เจ้ากวางล้ากระโจนลิ่ว / ฉันได้ยินเสียงของดอกแดฟโฟดีล ฉันได้ยินเสียงของธงตระหง่าน / ฉันได้ยินเสียงพูดของนายพราน หาใช่ความปิติของการสิ้นใจ / และทันใดกงล้อก็หยุดลง (...) โอเค หมดเวลาครับ ยกมือขึ้นครับ ถ้าคิดว่ากลอนบทแรก เขียนขึ้นโดยมนุษย์ ยกมือครับ ถ้าคิดว่ากลอนบทที่สอง เขียนขึ้นโดยมนุษย์ ว้าว จำนวนมากเลยนะครับ คุณจะต้องตกใจแน่ ถ้าทราบว่ากลอนบทแรกนั้น เขียนโดยนักกวีที่เป็นมนุษย์จริง ๆ ที่ชื่อว่า เกอทรูด สไตน์ ส่วนกลอนบทที่สองนั้นเรียบเรียง โดยอัลกอริธึมที่ชื่อ RKCP ก่อนจะไปต่อ ผมขออธิบายอย่างคร่าว ๆ ว่า เจ้า RKCP นี้ทำงานอย่างไร RKCP เป็นอัลกอริธึมที่ถูกออกแบบ โดย เรย์ ครูซเวล หัวหน้าแผนกวิศวกรรมของกูเกิล และยังเป็นผู้ที่เชื่อในปัญญาประดิษฐ์อีกด้วย คุณป้อนข้อความให้กับเจ้า RKCP มันก็จะวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีใช้ข้อความนั้น ๆ ในภาษาของมัน แล้วจึงเรียบเรียงภาษาใหม่ โดยเลียนแบบจากข้อความแรก ดังนั้น กลอนที่เราเพิ่งอ่านกันไป กลอนที่สองครับ ซึ่งพวกคุณคิดว่ามนุษย์เป็นผู้เขียน บทกลอนจำนวนมากถูกป้อนเข้าไป โดยนักกวีที่ชื่อ เอมิลี่ ดิกคินสัน มันอ่านวิธีการใช้ภาษาของเธอ เรียนรู้รูปแบบ จากนั้นก็เรียบเรียงใหม่ ด้วยโครงสร้างประโยคเดียวกัน สิ่งสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับเจ้า RKCP คือ มันไม่เข้าใจความหมายของคำที่มันใช้ ภาษาเป็นเพียงวัตถุดิบ ซึ่งอาจจะเป็นภาษาจีน ภาษาสวีดิช หรือภาษาที่รวบรวมจากหน้า เฟซบุ๊คของคุณในหนึ่งวันก็ได้ เป็นเพียงวัตถุดิบเท่านั้นครับ อย่างไรก็ตาม มันสามารถเขียนกลอนได้ เหมือนมนุษย์มากกว่าเกอทรูด สไตน์เสียอีก และ เกอทรูด สไตน์ ก็เป็นมนุษย์ สิ่งที่เราเพิ่งทำกันไป มันเหมือน การย้อนกลับของทัวริงเทสต์ เกอทรูด สไตน์ ผู้เป็นมนุษย์ สามารถเขียนกลอนได้ ซึ่งหลอกคนส่วนใหญ่ให้คิดว่า มันถูกเขียนโดยคอมพิวเตอร์ หากเราย้อนกลับตรรกะของทัวริงเทสต์ดู เกอทรูด สไตน์เป็นคอมพิวเตอร์ (เสียงหัวเราะ) ฟังดูสับสนไหมครับ แต่ผมว่ามันก็ยุติธรรมนะ เรามีมนุษย์ที่เขียนเหมือนมนุษย์ เรามีคอมพิวเตอร์ที่เขียนเหมือนคอมพิวเตอร์ เรามีคอมพิวเตอร์ที่เขียนเหมือนมนุษย์ และด้วยความสับสนอย่างไรก็ไม่ทราบ เรามีมนุษย์ที่เขียนเหมือนคอมพิวเตอร์ แล้วเราได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้ครับ เราทราบว่า วิลเลียม เบลคเป็นมนุษย์ มากกว่า เกอทรูด สไตน์ หรือ เกอทรูด สไตน์ เป็นคอมพิวเตอร์ มากกว่า วิลเลียม เบลค (เสียงหัวเราะ) ผมเฝ้าถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ มาตลอดสองปี และผมก็ยังไม่ได้คำตอบ สิ่งที่ผมได้คือความเข้าใจลึกซึ้งส่วนหนึ่ง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับเทคโนโลยี ความเข้าใจแรกคือ ด้วยเหตุผลบางอย่าง เราเชื่อมโยงความเป็นมนุษย์เข้ากับบทกลอน ดังนั้น เมื่อเราถามว่า “คอมพิวเตอร์เขียนกลอนได้หรือไม่” เราก็ต้องถามด้วยว่า “การเป็นมนุษย์หมายความว่าอย่างไร" "เราจำกัดขอบเขตของมันเอาไว้แค่ไหน" "เราถือว่าอะไรหรือใคร เป็นส่วนหนึ่งในขอบเขตนี้ได้อย่างไร” ผมเชื่อว่ามันเป็นคำถามพื้นฐานทางปรัชญา และไม่สามารถหาคำตอบได้ ด้วยการตอบว่าใช่หรือไม่ เช่นเดียวกับทัวริงเทสต์ ผมเชื่อว่า อลัน ทัวริง เองก็เข้าใจประเด็นนี้ เมื่อเขาสร้างการทดสอบนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1950 เขาก็ทำเสมือนว่าเป็นการฉุกคิดทางปรัชญา ความเข้าใจที่สองของผมคือ เมื่อเราทำทัวริงเทสต์กับบทกลอน จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่การทดสอบ ความสามารถของคอมพิวเตอร์ เพราะการเรียบเรียงบทกลอนใหม่นี้ มันเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 การที่เราทำทัวริงเทสต์กับบทกลอน จริง ๆ แล้วมันคือการรวบรวมความคิดเห็น ว่าอะไรเป็นส่วนประกอบสร้างความเป็นมนุษย์ ผมค้นพบว่า สิ่งที่เราเห็นกันไปในวันนี้ การที่เราบอกว่า วิลเลียม เบลค เป็นมนุษย์ มากกว่า เกอทรูด สไตน์ แน่นอน มันไม่ได้หมายความว่า วิลเลียม เบลค เป็นมนุษย์มากกว่าจริง ๆ หรือ เกอทรูด สไตน์ เป็นคอมพิวเตอร์มากกว่า มันหมายความว่า ขอบเขตของการเป็นมนุษย์นั้น มันยืดหยุ่นได้ มันทำให้ผมเข้าใจว่า มนุษย์ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่แน่นอน แต่มนุษย์คือร่างประกอบของความนึกคิด และอะไรบางอย่าง ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความเข้าใจอย่างสุดท้ายของผม คือคอมพิวเตอร์นั้น ทำหน้าที่เสมือนกระจกเงา ที่สะท้อนความคิดของมนุษย์ ที่เราแสดงให้มันดู เราให้มันดู เอมิลี่ ดิกคินสัน มันก็ให้ เอมิลี่ ดิกคินสัน กลับมา เราให้มันดู วิลเลียม เบลค นั่นก็คือสิ่งที่มันสะท้อนกลับมา หรือให้มันดู เกอทรูด สไตน์ สิ่งที่เราได้กลับมาก็คือ เกอทรูด สไตน์ ในแง่มุมที่เหนือกว่าการเป็นเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์เป็นกระจกสะท้อนอะไรก็ตาม ที่เราสอนมัน ในช่วงที่ผ่านมา คุณอาจจะเคยได้ยินมาเยอะ เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ เรื่องที่คุยกันส่วนใหญ่ก็อย่างเช่น เราสร้างมันได้ไหม เราสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีปัญญาได้ไหม เราสร้างคอมพิวเตอร์ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ไหม และสิ่งที่เราเฝ้าถามอยู่ตลอดมาก็คือ เราสร้างคอมพิวเตอร์ที่เหมือนมนุษย์ได้ไหม แต่สิ่งที่เราเพิ่งเห็นกันไป ก็ชัดเจนแล้วว่ามนุษย์ไม่ใช่ ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ มันคือกลุ่มความนึกคิดที่เชื่อมโยงกัน และแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา ดังนั้น หากเราเริ่มหยิบยกประเด็น ที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาพูดในอนาคต เราไม่ควรเอาแต่ถามว่า "เราสร้างมันได้หรือไม่" แต่เราควรถามตัวเราเองว่า "ความนึกคิดของมนุษย์แบบไหน ที่เราต้องการให้มันสะท้อนกลับมา" สิ่งนี้คือความคิดพื้นฐานทางปรัชญา ซึ่งไม่สามารถหาคำตอบได้ ด้วยซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียว แต่ผมขอให้นึกถึงภาพของเผ่าพันธุ์อันยิ่งใหญ่ ที่จะสะท้อนกลับมาด้วย ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)