ผมเป็นคนฮาซารา (Hazara) และบ้านเกิดของพวกเราคือประเทศอัฟกานิสถาน เหมือนกับเด็กฮาซารานับแสนคน ผมเกิดมาในฐานะผู้ถูกเนรเทศ การไล่ล่าและปฏิบัติการขับไล่ ชนเผ่าฮาซาราที่กำลังดำเนินอยู่ บีบให้พ่อแม่ของผมต้องหลบหนี ออกจากอัฟกานิสถาน การไล่ล่านี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่ ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 18 และในยุคของกษัตริย์ อับดูร ราห์มาน พระองค์ได้ฆ่า 63% ของประชากรฮาซารา และนำศีรษะของพวกเขามาสร้างหอคอยสุลต่าน ชาวฮาซาราหลายคนถูกขายเป็นทาส และอีกหลายคนหนีไปยังประเทศข้างเคียง อย่างอิหร่านและปากีสถาน พ่อแม่ของผมหนีไปปากีสถานเช่นกัน ท่านลงหลักปักฐานที่เมืองเควตตา (Quetta) และให้กำเนิดผม หลังจากเหตุการณ์วินาศกรรมตึกเวิลด์เทรด 9/11 ผมได้มีโอกาสไปอัฟกานิสถาน เป็นครั้งแรก พร้อมกับนักข่าวต่างชาติ ตอนนั้นผมอายุแค่ 18 และได้ทำงานเป็นล่าม สี่ปีหลังจากนั้น ผมรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะย้ายกลับไป ใช้ชีวิตที่อัฟกานิสถานอย่างถาวร ผมทำงานเป็นช่างภาพสารคดีอยู่ที่นั่น และทำสารคดีออกมาหลายเรื่อง เรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผมทำ คือเรื่องหนุ่มน้อยนักเต้นในอัฟกานิสถาน เรื่องราวแสนเศร้านี้มีเนื้อหา เกี่ยวกับธรรมเนียมที่น่ารังเกียจ เกี่ยวข้องกับเด็กน้อยที่ต้องเต้นโชว์พวกแม่ทัพ และชายผู้มีอิทธิพลในสังคม เด็กเหล่านี้มักจะถูกลักพาตัว หรือถูกซื้อจากพ่อแม่ที่ยากจน เพื่อมาใช้แรงงานเป็นทาสบำเรอกาม หนุ่มน้อยคนนี้ชื่อชูกูร เขาถูกแม่ทัพคนหนึ่งลักพาตัวมาจากเมืองคาบูล เขาถูกนำตัวไปยังจังหวัดอื่น ที่ซึ่งเขาถูกบังคับให้เป็นทาสบำเรอกาม ของแม่ทัพคนนั้นและผองเพื่อน เมื่อเรื่องนี้ได้เผยแพร่ในหนังพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ผมเริ่มถูกขู่ฆ่า และถูกบังคับให้ออกจากอัฟกานิสถาน พร้อมกับพ่อแม่ของผม พวกเราเดินทางกลับไปยังเควตตา สถานการณ์ที่นั่นเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับตอนที่ผมจากไปเมื่อปี 2005 จากที่เคยเป็นที่หลบภัยอันสงบของชาวฮาซารา แต่แล้วมันกลับกลายเป็นเมืองที่ อันตรายที่สุดในปากีสถาน ชาวฮาซาราถูกกักอยู่ในบริเวณเล็กๆ สองแห่ง ถูกเหยียดทั้งทางสังคม การศึกษา และการเงิน นี่คือ นาเดียร์ ผมรู้จักกับเขามาตั้งแต่เด็ก เขาบาดเจ็บจากการซุ่มโจมตีของผู้ก่อการร้าย ตอนอยู่บนรถตู้ในเมืองเควตตา เขาตายหลังจากนั้นเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว ชาวฮาซาราราว 1,600 คน ถูกฆ่าจากการโจมตีที่มีรูปแบบต่างกันออกไป และราว 3,000 คน ได้รับบาดเจ็บ หลายคนในนั้นพิการตลอดชีวิต การโจมตีชาวฮาซารานับวันยิ่งเลวร้าย ไม่แปลกเลยที่หลายคนต้องการจะหนีไปจากที่นี่ ถัดจากอัฟกานิสถาน อิหร่านและปากีสถาน ออสเตรเลียเป็นบ้านที่มีประชากรฮาซารา มากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก เมื่อต้องอพยพออกจากปากีสถาน ออสเตรเลียดูจะเป็นทางเลือกที่ชัดเจน เงินของเราจำกัด จึงมีแค่คนเดียวที่จะไปได้ และพวกเราตัดสินใจกันว่าคนนั้นคือผม ด้วยหวังว่า ถ้าผมถึงโดยสวัสดิภาพแล้ว ผมจะสามารถทำให้ครอบครัว ตามมาสมทบกับผมได้ในภายหลัง พวกเรารู้ถึงความเสี่ยง และความน่ากลัวของการเดินทางแบบนี้ ผมพบเจอใครหลายคนที่สูญเสีย บุคคลอันเป็นที่รักไปในทะเล นี่เป็นการตัดสินใจอย่างไร้ทางเลือก เมื่อเราต้องทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ไม่มีใครตัดสินใจในเรื่องนี้ได้อย่างง่ายดาย ถ้าผมขึ้นเครื่องบินไปออสเตรเลียง่ายๆ ล่ะก็ ก็จะใช้เวลาบินไม่ถึง 24 ชั่วโมงด้วยซ้ำ แต่การขอวีซ่านั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย การเดินทางของผมยาวนานกว่านั้นมาก เป็นการเดินทางที่ลึกลับซับซ้อนมาก และแน่นอน อันตรายกว่านั้นมาก เราเดินทางไปประเทศไทยด้วยเครื่องบิน แล้วขึ้นรถขึ้นเรือไปมาเลเซียและอินโดนีเซีย จ่ายเงินให้คนและพวกลักลอบเข้าเมืองตลอดทาง ช่วงเวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการหลบซ่อน และกับความหวาดกลัวว่าจะถูกจับ ในอินโดนีเซีย ผมอยู่กับกลุ่มผู้ลี้ภัย 7 คน พวกเราใช้ห้องนอนร่วมกัน ในเมืองโบกอร์ที่อยู่เลยกรุงจาร์กาตาออกไป 1 สัปดาห์ผ่านไปในโบกอร์ เพื่อนร่วมห้องของผม 3 คน เริ่มการเดินทางอันแสนอันตราย สองวันหลังจากนั้น เราได้รับข่าว ว่าเรือที่อพยพคนอย่างลำบากยากเย็นนั้น ล่มลงระหว่างทางที่จะไปเกาะคริสต์มาส และเราพบว่าเพื่อนร่วมห้องของเราทั้ง 3 คน นาวโรซ จาฟ์ฟาร์ และ ชาเบียร์ โดยสารบนเรือลำนั้น มีแค่ จาฟ์ฟาร์ ที่ได้รับการช่วยเหลือ ส่วนชาเบียร์ และ นาวโรซนั้นหายสาปสูญ นั่นทำให้ผมคิด ว่าผมกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วรึเปล่า? ผมสรุปว่าไม่มีทางเลือกอื่น ต้องไปต่อ ไม่กี่อาทิตย์จากนั้น เราได้รับโทรศัพท์จาก พวกช่วยลักลอบคนเข้าเมือง ว่าเรือโดยสารพร้อมแล้วให้เราเดินทาง อาศัยความมืดในยามวิกาลเพื่อไปยังเรือลำนั้น บนเรือยนต์ เราขึ้นเรือประมงเก่าที่บรรทุกคนจนเกินน้ำหนัก มีผู้โดยสารทั้งสิ้น 93 คน พวกเราทั้งหมดอยู่ใต้ท้องเรือ ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ขึ้นมาข้างบน พวกเราจ่ายกันคนละ 6,000 ดอลลาร์ เพื่อจะโดยสารบนเรือลำนี้ วันแรกและคืนแรกผ่านไปได้ด้วยดี แต่คืนต่อมา สภาพอากาศก็กลับตาลปัตร คลื่นซัดเรื่องโคลง ท่อนไม้ดังเอี๊ยดอ๊าด กลุ่มคนใต้ท้องเรือต่างร้องไห้ สวดภาวนา และเรียกหาบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา พวกเขากรีดร้อง มันเป็นช่วงเวลาที่เลวร้าย ราวกับภาพเหตุการณ์ในวันโลกาวินาศ หรือฉากที่เห็นกันในหนังฮอลลีวูด ที่ทุกสิ่งทุกอย่างแตกสลาย และโลกกำลังจะดับลง มันเกิดขึ้นกับพวกเราจริงๆ เราไม่มีอะไรที่จะหวัง เรือของเราล่องลอยเหมือน กล่องไม้ขีดไฟที่เคว้งคว้างอยู่ในน้ำ ไร้การควบคุม คลื่นสูงใหญ่กว่าเรือของพวกเรามาก น้ำทะลักเข้ามาเร็วเกินที่จะปั๊มออกได้ทัน เราทั้งหมดไร้สิ้นซึ่งความหวัง เราคิดว่า มันจบลงแล้ว เรากำลังมองความตายที่มายืนอยู่ตรงหน้า และผมเก็บภาพเหล่านี้ไว้ กัปตันบอกกับพวกเราว่า เราทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว พวกเราต้องทิ้งเรือลำนี้ เราขึ้นมาอยู่ข้างบนเรือ เปิดปิดไฟฉายไปเรื่อยๆ เพื่อเรียกความสนใจจากเรือลำใดๆ ที่ผ่านมา เราพยายามทำให้เรือเหล่านั้นสนใจ ด้วยการโบกเสื้อชูชีพ และเป่าปาก ในที่สุด เราก็ล่องเรือถึงเกาะเล็กๆ เรือของเราชนกับโขดหิน ผมลื่นลงไปในน้ำ ทำกล้องรวมถึงสิ่งต่างๆ ที่บันทึกเอาไว้พัง แต่โชคยังดี ที่เมมโมรีการ์ดยังใช้การได้ มันเป็นป่าทึบ พวกเราแบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆ และถกเถียงกันว่าจะทำอะไรต่อ เราหวาดกลัวและสับสน หลังจากค้างคืนที่ชายหาด เราก็เจอท่าเรือเล็กๆ และมะพร้าว เราส่งเสียงตะโกนเรียกเรือจากรีสอร์ทแถวนั้น และถูกส่งตัวให้ตำรวจน้ำอินโดนีเซียทันที ที่ศูนย์กักกันซีราง เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาที่นี่ และตรวจค้นร่างกายอย่างเงียบๆ เขาเอามือถือของพวกเรา และเงิน $300 ของผมไป รวมถึงรองเท้า เพื่อที่เราจะได้หนีไปไม่ได้ แต่เราคอยสังเกตพวก รปภ. ดูความเคลื่อนไหว ตอนตี 4 ที่พวกเขากำลังนั่งล้อมรอบกองไฟ พวกเราก็เอากระจกสองชั้นที่บานหน้าต่างออก แล้วหนีออกไปทางนั้น พวกเราปีนต้นไม้ที่ติดกับกำแพงรอบนอกซึ่ง มีเศษแก้วเสียบเป็นแนวด้านบน เราวางหมอนบนนั้น และพันแขนตัวเองด้วยผ้าปูเตียง เพื่อปีนกำแพงออกไป เราวิ่งหนีออกไปด้วยเท้าเปล่า ผมเป็นอิสระแล้ว กับอนาคตที่ไม่แน่นอน และไร้เงินตรา สิ่งเดียวที่ผมมีติดตัวคือ เมมโมรีการ์ดที่บันทึกภาพเอาไว้ เมื่อสารคดีของผมได้ฉายบน SBS Dateline เพื่อนของผมหลายคนถึงได้รู้สถานการณ์ของผม และพยายามให้การช่วยเหลือ พวกเขาไม่ยอมให้ผมไปเสี่ยงชีวิตบนเรืออีก ผมตัดสินใจที่จะอยู่ที่อินโดนีเซีย โดยรับความช่วยเหลือจาก UNHCR แต่ผมกลัวว่าผมจะจบชีวิตลงที่อินโดนีเซีย ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีงานทำ เหมือนกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ แต่ผมนั้นต่างจากคนอื่น ผม.... ผมเป็นคนที่โชคดี คนรู้จักของผมช่วยเร่งการทำงานของUNHCRให้ และผมก็ได้ลงหลักปักฐาน ในออสเตรเลียเมื่อเดือน พ.ค. 2013 ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทุกคนที่จะโชคดีแบบผม ยากจริงๆ ที่ไม่รู้ว่าชะตากรรมจะเป็นยังไง ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียนั้น ถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองแบบสุดๆ จนไม่เหลือความเป็นมนุษย์ ผู้ลี้ภัยถูกป้ายสีให้ดูน่ากลัวและโหดร้าย ก่อนปรากฏกายต่อหน้าสาธารณชน ผมหวังว่าเรื่องราวของผมและชาวฮาซารา จะช่วยจุดประกายให้ผู้คนได้รับรู้ว่า พวกเขาทุกข์ทรมานแค่ไหนในประเทศบ้านเกิด พวกเขาทุกข์ทรมานอย่างไร และทำไมพวกเขาถึงต้องเสี่ยงชีวิต เพื่อหาที่ลี้ภัยถึงขนาดนั้น ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)