คนมีสิทธิอะไรบ้าง และพวกมันมาจากไหน ใครกันที่เป็นผู้กำหนดตัดสินใจให้คนอื่น ๆ และในบริบทอำนาจใด และเราจะจัดระเบียบสังคมได้อย่างไร ให้เข้ากับความต้องการของคนในสังคม คำถามเหล่านี้สร้างความท้าทายระดับประเทศ ระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดปัญหา ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ยุโรปได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทางปัญญาและทางวัฒนธรรม ที่รู้จักกันในชื่อ ยุคเรืองปัญญา นักปรัชญาและศิลปินเชิดชูเหตุผล และอิสรภาพของมนุษยชาติ เหนือกว่าขนบธรรมเนียมและศาสนา การลุกฮือขึ้นมาของชนชั้นกลาง และสื่อสิ่งพิมพ์ ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงการเมือง และการปฏิวัติอเมริกาได้เปลี่ยน อาณานิคมเดิมของอังกฤษ ให้กลายเป็นสาธารณรัฐอิสระ แต่ถึงกระนั้น ฝรั่งเศส หนึ่งในประเทศ ที่ใหญ่และมั่งคั่งที่สุดในยุโรป ยังคงถูกปกครองโดยแนวทางปฏิบัติดั้งเดิม ที่ประกอบด้วยสามชนชั้นทางสังคม เรียกว่า ฐานันดร ราชวงศ์อย่างพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก มีฐานอำนาจตามสิทธิสมมุติเทพ และประทานสิทธิพิเศษให้กับ ผู้ที่มีฐานันดรขั้นที่หนึ่งและสอง ได้แก่ นักบวชคาธอลิก และขุนนาง ระดับฐานันดรที่สาม คือพ่อค้าชนชั้นกลาง และช่างฝีมือ เช่นเดียวกันกับประชาชนกว่า 20 ล้านคน ที่มีอำนาจน้อยกว่า และพวกเขาเป็นเพียงคนกลุ่มเดียว ที่ต้องจ่ายภาษี ไม่ใช่แค่ให้กับกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังต้องให้กับผู้ที่มีฐานันดรอื่น ๆ อีกด้วย ในปีที่การเก็บเกี่ยวไม่สู้ดี การเก็บภาษีอาจทำให้ประชาชน สิ้นเนื้อประดาตัว ในขณะที่กษัตริย์และชนชั้นสูงสามารถใช้จ่าย อย่างฟุ่มเฟือยจากความร่ำรวยของพวกเขา แต่ฝรั่งเศสได้จมอยู่ในกองหนี้เนื่องจาก พวกเขาสนับสนุนการปฏิวัติอเมริกา และการทำสงครามอย่างยาวนานกับอังกฤษ จำต้องมีการเปลี่ยนแปลง พระเจ้าหลุยส์แต่งตั้งรัฐมนตรีคลัง ฌาค เนคแกร์ ผู้ส่งเสริมให้มีการปฏิรูปการเก็บภาษี และได้รับการสนับสนุนจากสังคมให้มี การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของรัฐบาล แต่บรรดาที่ปรึกษาของกษัตริย์คัดค้าน แนวทางใหม่นี้อย่างสุดตัว พระเจ้าหลุยส์ทรงประสงค์ที่จะหาข้อยุติ จึงเรียกประชุมสภาฐานันดร ซึ่งคือองค์ประชุมของตัวแทน จากทั้งสามฐานันดร เป็นครั้งแรกในรอบ 175 ปี แม้ว่าระดับฐานันดรที่สามจะประกอบด้วย ร้อยละ 98 ของประชากรทั้งหมด การลงคะแนนของพวกเขา มีค่าเท่ากับฐานันดรอื่นแต่ละคน และไม่น่าแปลกใจเลยที่ทั้งสองฐานันดร ที่สูงศักดิ์กว่า อยากที่จะคงสิทธิพิเศษเอาไว้ เมื่อตระหนักว่าพวกเขา ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบตัวแทน ระดับฐานันดรที่สามก็ประกาศ แต่งตั้งพวกตนขึ้นเป็นสภาผู้แทนราษฎร และให้คำมั่นว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีหรือไม่มีฐานันดรอื่น ๆ เข้าร่วมก็ได้ พระเจ้าหลุยส์ทรงมีรับสั่งให้ฐานันดร ที่หนึ่งและสอง เข้าประชุมกับสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังปลดเนคแกร์ รัฐมนตรีคลัง ผู้โด่งดังของพระองค์ด้วย ผลลัพธ์ก็คือ ชาวปารีสนับพันที่โกรธแค้น ร่วมด้วยทหารที่เห็นพ้องกัน ก็รุดไปยังคุกบัสตีย์ สัญลักษณ์ของอำนาจราชวงศ์ และคลังอาวุธขนาดใหญ่ การปฏิวัติได้เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อการก่อกบฎได้แผ่ขยายออกไป ทั่วทั้งประเทศ ระบบศักดินาก็ถูกทำลาย คำประกาศของรัฐสภา เกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์และพลเมือง สถาปนาแนวคิดอย่างสุดโต่ง ในเวลานั้น ว่าสิทธิและเสรีภาพของแต่ละบุคคลนั้น เป็นพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์ และรัฐบาลนั้นดำรงอยู่เพียงเพื่อปกป้องมัน เมื่อสิทธิพิเศษของพวกเขาหมดไป เหล่าชนชั้นสูงมากมายก็หนีไปต่างประเทศ ขอร้องให้เหล่าผู้ปกครองต่างแดน โจมตีฝรั่งเศสและฟื้นฟูกฎเกณฑ์เก่า และในขณะที่พระเจ้าหลุยส์ ยังทรงดำรงตำแหน่งกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ก็ทรงตระหนักถึงอนาคตที่น่ากลัว ในปี ค.ศ. 1791 ทรงพยายามหนี ออกนอกประเทศ แต่ถูกจับได้ ความพยายามในการหลบหนี ทำให้ศรัทธา ของประชาชนในตัวพระเจ้าหลุยส์สลายสิ้น ราชวงศานุวงศ์ถูกจับ และพระเจ้าหลุยส์ก็ถูกตั้งข้อหากบฎ ภายหลังการพิจารณาคดี กษัตริย์ผู้ทรงเคยเป็นที่เคารพศรัทธา ก็ถูกตัดพระเศียรท่ามกลางสาธารณชน ซึ่งเป็นจุดบ่งบอกถึงกาลอวสาน ของราชวงศ์ที่มีอายุยาวนานหนึ่งพันปี และเป็นจบลงที่การก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน โดยมีคำขวัญที่ว่า "เสรีภาพ (liberté) เสมอภาค (égalité) ภราดรภาพ (fraternité)" เก้าเดือนต่อมา พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ที่ได้รับฉายาจากชาวต่างชาติว่า "มาดามหนี้ท่วมหัว (Madame Déficit)" จากพฤติกรรมฟุ้งเฟ้อของพระองค์ ก็ถูกตัดพระเศียรเช่นกัน แต่การปฏิวัติไม่ได้จบลงที่ตรงนั้น ผู้นำบางคน ไม่หยุดอยู่แค่ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมฝรั่งเศส ศาสนา และชื่อของท้องถนนต่าง ๆ แม้กระทั่งปฏิทิน ในขณะที่ภาคส่วนต่าง ๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น กลุ่มฌากอแบ็งผู้มีแนวคิดแบบสุดโต่ง ที่นำโดย มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ได้ทำให้เกิด สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว ที่มีการสังหารฝ่ายตรงข้ามกว่า 20,000 คน ก่อนที่กลุ่มฌากอแบ็งเองจะมาถึงจุดเสื่อม ในขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสก็ต้องทำศึก กับราชวงศ์ของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต้องการหยุดยั้งการปฏิวัติ ก่อนที่มันจะขยายขอบเขตมากไปกว่านี้ ท่ามกลางความโกลาหล นายพลที่มีชื่อว่า นโปเลียน โบนาปาร์ต ก็เข้ามากุมอำนาจ ขึ้นเป็นจักรพรรดิ ปฏิญาณว่าจะปกป้อง คุณค่าของประชาธิปไตยที่ได้จากการปฏิวัติ โดยสรุป การปฏิวัตินี้ ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญสามฉบับ และห้ารัฐบาลภายในสิบปี ตามด้วยหลายทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง ราชวงศ์และการปฏิวัติ ก่อนที่สาธารณรัฐใหม่จะเกิดขึ้น ในปี ค.ศ. 1871 และในขณะที่เราเฉลิมฉลองอุดมคติของ การปฏิวัติฝรั่งเศส เราก็ยังคงต่อสู้กับคำถามพื้นฐานมากมาย อย่างเดียวกันนี้ ที่เกิดขึ้นมานานกว่าสองศตวรรษ