ถ้าเราถามคนทั่วไปว่า การขโมยนั้นผิดหรือไม่ ส่วนใหญ่คงตอบว่า "ผิดแน่นอน" แต่กระนั้นในปีค.ศ. 2013 องค์กรต่างๆ ทั่วโลก ยังคงสูญเงินให้กับการทุจริต ไปกว่า 3.7 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งมีทั้งในรูปของ การยักยอกเงิน แชร์ลูกโซ่ และ การหลอกเคลมประกัน นี่ไม่ใช่เป็นผลงานของมิจฉาชีพเพียงไม่กี่คน ความจริงก็คือผู้คนทั่วไปล้วนมีโอกาส ที่จะตกอยู่ใต้อิทธิพลของการโกง ไม่เพียงแต่กับสิ่งล่อใจทั้งหลาย แต่ถึงขั้นกล่อมให้ตัวเองเชื่อว่า ไม่ได้ทำอะไรผิดอีกด้วย แล้วทำไมถึงเกิดการโกงขึ้นได้ล่ะ? แม้ว่าแรงจูงใจในการโกง จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทฤษฎีสามเหลี่ยมทุจริต (the fraud triangle) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักอาชญาวิทยา ชื่อ โดนัลด์ เครสซี่ (Donald Cressey) ได้บอกว่ามี 3 เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการโกง ได้แก่ แรงกดดัน (pressure) โอกาส (opportunity) และการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง (rationalization) แรงกดดันนั้น บ่อยครั้งเป็นเสมือนแรงจูงใจ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริต อาจเป็นได้ทั้ง ปัญหาหนี้สิน การติดยา การทำยอดขายให้ได้ตามเป้า การตกงานกระทันหัน หรือ การเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัว ในเรื่องของโอกาส คนจำนวนมากทั้งในภาครัฐและเอกชน สามารถเข้าถึงวิธีการต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้ เกิดการทุจริตรวมถึงปกปิดมันเอาไว้ เช่น บัตรเครดิตองค์กร ข้อมูลภายในองค์กร หรือ อำนาจในการบริหารงบประมาณ เมื่อมีทั้งปัจจัยจากแรงกดดัน และโอกาสที่เอื้ออำนวย อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็สามารถก่อให้เกิดเป็น สิ่งล่อใจที่ทรงอานุภาพ แต่แม้ว่าจะมีปัจจัยทั้งสองอย่างข้างต้นแล้ว การทุจริตส่วนมากยังคงต้องมี เรื่องของการให้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง คนที่ทุจริตส่วนใหญ่ มักจะเป็นผู้กระทำความผิดในครั้งแรก ดังนั้นแทนที่จะลงมือทำอะไร ในแบบที่ผิดเต็มประตู พวกเขาจำเป็นต้องหาความชอบธรรม ให้กับการทำผิดนั้นด้วย บางคนรู้สึกว่าเขาสมควรได้เงินนั้น เนื่องจากถูกกดค่าแรงหรือทำงานเกินค่าจ้าง บ้างก็เชื่อว่า การทุจริตนั้นไม่มีผู้เสียหายโดยตรง แม้กระทั่งสัญญากับตัวเองว่าจะนำเงินไปคืน หลังจากพ้นช่วงวิกฤตไปแล้ว การทุจริตที่พบบ่อยๆ บางรูปแบบ ไม่แม้แต่จะเรียกว่าเป็นกรณีทุจริตเมื่อถูกจับได้ เช่น พนักงานลงเวลาทำงาน หรือเบิกค่าใช้จ่ายไม่ตรงกับความจริง การแจ้งรายได้พึงประเมิน ไม่ครบถ้วนเวลายื่นภาษี หรือผู้ให้บริการยื่นเบิกค่าใช้จ่าย กับบริษัทประกันเกินจริง แม้ว่านี่จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย บางครั้งก็แค่เงินไม่กี่ร้อยเหรียญ เรื่องเล็กๆ เหล่านี้เมื่อสะสมมากๆ เข้า ก็จะทำให้ขนาดของการทุจริตมีมูลค่ามหาศาล ในปีค.ศ. 2003 บริษัท Parmalat ยักษ์ใหญ่วงการอาหารของอิตาลีล้มละลาย หลังจากถูกพบว่าตกแต่งบัญชีเงินในธนาคาร กว่า 4 พันล้านเหรียญ และทำงบการเงินเท็จ เพื่อปกปิดผลการขาดทุนของบริษัทลูก และเนื่องจากว่า เป็นธุรกิจครอบครัว บรรษัทภิบาลและการกำกับดูแลกิจการ จึงเป็นไปได้ยาก บริษัทเองเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาการขาดทุนได้ ก่อนที่เรื่องจะแดงออกมา ความโลภบังตา ก็ไม่ได้มีแต่กับบริษัทเอกชนเท่านั้น หน่วยงานรัฐและองค์กรไม่แสวงหากำไร ก็เกิดการทุจริตได้ ในระหว่างดำรงตำแหน่งผู้ตรวจบัญชี ของเมืองดิกซัน รัฐอิลลินอยส์ ริต้า ครันด์เวลล์ (Rita Crundwell) ยักยอกเงินไปกว่า 53 ล้านเหรียญ ริต้า เป็นนักเพาะพันธุ์ม้าแข่ง ชั้นแนวหน้าของประเทศ ที่ชนะรายการชิงแชมป์โลก รวมกันกว่า 52 รายการ แต่ค่าใช้จ่ายในการดูแลม้า ก็พุ่งไปกว่า 2 แสนเหรียญ/เดือน และเพราะตำแหน่งของเธอทำให้ สามารถควบคุมบัญชีเงินของเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ เธอจึงสามารถหมุนเงินงบประมาณของเมือง ไปยังบัญชีส่วนตัวได้อย่างง่ายดาย และก็ไม่มีใครล่วงรู้ถึงการทุจริตนี้ ตลอดเวลากว่า 20 ปี เชื่อกันว่า ครันด์เวลล์รู้สึกว่า ตัวเองคู่ควรกับชีวิตหรูหรา ให้สมกับฐานะ และชื่อเสียงต่างๆจากการแข่ง ที่เธอนำมาสู่เมือง มันชวนให้คิดไปว่าการทุจริต เป็นอาชญากรรมที่ปราศจากผู้เคราะห์ร้าย เพราะบริษัท หรือหน่วยงานเทศบาล ไม่ใช่บุคคลจริงๆ แต่ในการทุจริตทุกครั้ง จะมีผู้เสียหายตัวจริงอยู่เสมอ เช่น ลูกจ้างบริษัท Parmalat ที่ต้องตกงาน ชาวเมืองดิกซัน ที่สูญเงินภาษีไปกับคอกม้าแข่ง ลูกค้าต้องจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้น เพื่อชดเชยผลขาดทุนของบริษัท บางครั้งผลกระทบก็ชัดเจนและรุนแรง เช่นกรณีของ เบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ (Bernard Madoff) ที่ผู้เสียหายนับพันต้องสูญเงินเก็บของพวกเขาไป แต่บ่อยครั้งที่มันมักจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่ยากจะแจกแจงออกมา แต่ก็ยังคงต้องมีใครที่ไหนสักคน ที่เป็นคนจ่ายค่าเสียหายนั้นอยู่ดี