ที่เคนย่า ในปี ค.ศ. 1984 เป็นปีที่เรียกกันว่า ปีแห่งถ้วยตวง หรือโกโร โกโร โกโร โกโร เป็นถ้วยที่ใช้สำหรับตวง แป้งข้าวโพดขนาด 2 กิโลกรัมในตลาด แป้งข้าวโพดซึ่งใช้สำหรับทำอูกาลี เค้กข้าวโพดที่ใช้กินกับผัก ทั้งข้าวโพดและผักนั้นปลูกกัน ในเกือบทุกฟาร์มในเคนย่า ซึ่งหมายถึงทุกครอบครัว สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ด้วยฟาร์มของพวกเขา หนึ่งโกโร โกโร ใช้ทำอาหารได้ 3 มื้อ สำหรับครอบครัวทั่วไป และในปี ค.ศ. 1984 ผลผลิตที่ได้ทั้งหมด สามารถใส่ได้ในโกโร โกโรเพียงถ้วยเดียว มันยังคงสถิติเป็นปีที่แห้งแล้งที่สุด เท่าที่เคยเกิดขึ้นในความทรงจำ และในวันนี้ ฉันทำประกันความแห้งแล้ง ให้กับเกษตรกร เช่นที่เคยเกิดขึ้นในปีแห่งถ้วยตวง หรือบอกให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้น ก็คือฉันประกันว่าจะมีฝน ฉันมาจากครอบครัวผู้เผยแพร่ศาสนา ที่เป็นผู้สร้างโรงพยาบาลในอินโดนีเซีย และพ่อของฉันก็เป็นผู้สร้างโรงพยาบาลจิตเวช ในแทนซาเนีย นี่คือฉัน ตอนอายุ 5 ขวบ หน้าโรงพยาบาลแห่งนั้น ฉันไม่คิดว่าพวกเขาจะคิดว่าเมื่อโตขึ้น ฉันจะมาเป็นคนขายประกัน (เสียงหัวเราะ) ขอให้ฉันเล่าให้ฟังก็แล้วกัน ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ในปี 2008 ตอนนั้นฉันทำงาน ให้กับกระทรวงเกษตรของรวันดา และเจ้านายของฉันก็ได้รับเลื่อนขั้น ให้เป็นรัฐมนตรี เธอดำเนินแผนการอย่างมุ่งมั่น เพื่อเริ่มต้นการปฏิวัติเกษตรกรรม ในประเทศของเธอ และกว่าที่เราจะรู้ตัว เราก็กำลังนำเข้า เมล็ดพันธุ์และปุ๋ยเคมีจำนวนมหาศาล และบอกเกษตรกรถึงวิธีการใช้ปุ๋ย และปลูกพืชเหล่านั้น สองสัปดาห์ต่อมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศก็มาเยี่ยมเรา และถามท่านรัฐมนตรีของฉันว่า "ท่านรัฐมนตรี มันเป็นสิ่งเยี่ยมยอด ที่ท่านต้องการช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีความมั่นคงทางอาหาร แต่จะเป็นอย่างไรถ้าฝนไม่ตก" ท่านรัฐมนตรีของฉันตอบอย่างภาคภูมิใจ และอย่างหนักแน่นว่า "ฉันก็จะสวดภาวนาขอให้มีฝน" นั้นคือจุดสิ้นสุดของการสนทนา ในรถระหว่างทางกลับกระทรวง ท่านหันมาที่ฉันแล้วพูดว่า "โรส เธอสนใจเรื่องการเงินมาตลอด ช่วยไปหาหลักประกันมาให้เราหน่อย" เป็นเวลา 6 ปีนับตั้งแต่นั้น ในปีสุดท้าย ฉันจึงมีโชคพอที่จะ เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ให้การประกันภัยกับ เกษตรกรกว่า 185,000 คน ในเคนย่าและรวันดา เพื่อประกันความแห้งแล้ง พวกเขาเป็นเจ้าของที่ดินเฉลี่ยราวครึ่งเอเคอร์ และจ่ายเงินเฉลี่ย 2 ยูโร เป็นค่าเบี้ยประกัน มันเป็นการประกันภัยขนาดจิ๋ว ที่นี้ การประกันแบบดั้งเดิมนั้นไม่สามารถทำได้ กับเบี้ยประกันแค่ 2-3 ยูโร เพราะประกันภัยแบบสมัยก่อน ต้องมีการตรวจเยี่ยมฟาร์ม เกษตรกรเยอรมันนีต้องได้รับการตรวจเยี่ยม ตั้งแต่เริ่มต้นฤดู กลางฤดู และท้ายฤดู และอีกครั้งหากเกิดความสูญเสีย เพื่อประเมินความเสียหาย สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่อยู่ใจกลางแอฟริกา เมื่อคิดถึงต้นทุนการตรวจเยี่ยมฟาร์ม แน่นอนว่ามันไม่คุ้มค่า แทนที่จะทำแบบนั้นเราใช้เทคโนโลยีและข้อมูล ดาวเทียมช่วยชี้วัด ว่าท้องฟ้ามีเมฆหรือไม่ นั้นก็เพราะ หากลองคิดดู ถ้ามีเมฆก็แสดงว่า อาจจะมีฝนบ้าง แต่ถ้าไม่มีเมฆเลย มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีฝนตก ภาพนี้แสดงให้เห็นการก่อตัวของฝน ในฤดูกาลนี้ของเคนย่า เห็นไหม ในช่วงวันที่ 6 มีนาคม เมฆเคลื่อนเข้ามาและหายไป และช่วงวันที่ 11 มีนาคม เมฆจึงเคลื่อนเข้ามาจริง ๆ เมฆทั้งหลายเหล่านั้น เป็นการเริ่มต้นของฝนในปีนี้ ดาวเทียมดวงนี้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งแอฟริกา และสามารถดูย้อนหลังไปได้ถึงปี ค.ศ. 1984 ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากคุณรู้ว่า มีกี่ครั้งที่ที่แห่งนี้เกิดภัยแล้งขึ้น ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คุณก็จะสามารถประมาณการณ์ ได้ค่อนข้างแม่น ว่าในอนาคตจะมีโอกาสเกิดภัยแล้ง มากน้อยแค่ไหน และนั้นหมายถึงคุณสามารถตั้งราคา ให้กับความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งขึ้นได้ ข้อมูลอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เรายังใช้การคำนวณทางการเกษตร ซึ่งบอกเราว่าพืชต้องการฝนแค่ไหน และเมื่อไหร่ ยกตัวอย่างเช่น ในการปลูกข้าวโพด คุณต้องการฝนสองวัน ให้เกษตรกรใช้ในการหยอดเมล็ด หลังจากนั้นยังต้องการฝนอีกทุกสองสัปดาห์ เพื่อให้เมล็ดงอกอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้น คุณต้องการฝนทุกสามสัปดาห์ ให้ใบเจริญเติบโต และเมื่อถึงช่วงออกดอก คุณต้องการฝนให้ตกบ่อยขึ้น เป็นทุกสิบวัน เพื่อสร้างฝัก ในตอนท้ายของฤดูปลูก คุณไม่ต้องการให้ ฝนตกอีก เพราะมันจะทำให้ผลผลิตเสียหาย วางแผนล่วงหน้าให้รอบคอบว่ายากแล้ว แต่มันกลายเป็นว่า เรื่องที่ยากจริง ๆ ก็คือการขายประกัน เราตั้งเป้าหมายที่คิดว่าทำได้ ว่าจะมีเกษตรกร 500 คนได้รับการคุ้มครอง ในฤดูกาลแรก หลังจากสองเดือนของการทำการตลาดอย่างเข้มข้น เราได้ทำสัญญากับเกษตรกรทั้งสิ้น 185 ราย ฉันทั้งผิดหวังและสับสน ใครต่อใครต่างบอกฉันว่า เกษตรกร ต้องการการประกันภัย แต่ลูกค้าหลักของเรากลับไม่สนใจ พวกเขาต่างรอว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต่างไม่เชื่อใจบริษัทประกันภัย หรือคิดว่า "ฉันทำของฉันผ่านมาได้ตั้งหลายปี แล้วทำไมจะต้องมาซื้อประกันเอาตอนนี้" ทุกวันนี้ พวกคุณหลายคนต่างรู้จักธนาคารคนจน วิธีการที่ให้เงินกู้ขนาดเล็กแก่คนยากจน ที่คิดค้นขึ้นโดยโมฮัมหมัด ยูนุส ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล จากผลงานของเขากับ ธนาคารกรามีน กลายเป็นว่า ขายสินเชื่อขนาดจิ๋ว ไม่เหมือนกับการขายประกัน สำหรับสินเชื่อ เกษตรกรต้องได้รับความเชื่อถือจากธนาคาร และถ้าหากสำเร็จ ธนาคารจึงจะให้เงินกู้กับเขา นั้นเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ สำหรับการประกันภัย เกษตรกรต้องเชื่อใจ บริษัทประกันภัย และต้องการ จึงจ่ายเงินให้บริษัทประกันก่อน มันเป็นข้อเสนอของคุณค่าที่แตกต่าง การเพิ่มขึ้นของการประกันภัยจึงเป็นไปอย่างช้า ๆ ถึงตอนนี้มีแค่ร้อยละ 4.4 ของชาวแอฟริกา ที่ทำประกันในปี 2012 และครึ่งหนึ่งของจำนวนนั้นอยู่ในประเทศ ประเทศเดียว คือแอฟริกาใต้ เราพยายามอยู่หลายปี ที่จะขายประกันตรงให้กับเกษตรกร ด้วยต้นทุนทางการตลาดที่สูงมาก แถมยังประสบความสำเร็จอย่างจำกัด ตอนนั้นเองที่เรารู้ว่า มีองค์กรอีกหลายแห่ง ที่ทำงานกับเกษตรกร บริษัทเมล็ดพันธุ์ สถาบันการเงินขนาดย่อม บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ หน่วยงานรัฐบาล ที่จัดหาเงินกู้ยืมให้กับเกษตรกร และบ่อยครั้ง ก่อนที่พวกเขาจะสรุปเงินกู้ เกษตรกรมักพูดว่า "แต่ถ้าฝนไม่ตก คุณจะคาดหวังให้ผมจ่ายคืนเงินกู้ได้อย่างไร" องค์กรทั้งหลายเหล่านี้ ต่างแบกรับความเสี่ยงไว้เอง โดยหวังว่าในปีนั้น เรื่องเลวร้ายจะไม่เกิดขึ้น องค์กรส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ต่างจำกัดการขยายตัวในภาคการเกษตร พวกเขาไม่สามารถรับมือกับความเสี่ยงแบบนี้ได้ องค์กรเหล่านี้กลายมาเป็นลูกค้าของเรา และเมื่อรวมสินเชื่อเข้ากับการประกันภัย เรื่องน่าสนใจก็เกิดขึ้นได้ ฉันมีเรื่องหนึ่ง อยากเล่าให้ฟัง ต้นเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2012 ทางตะวันตกของเคนย่า ฝนเริ่มตก และพวกเขาเริ่มเพาะปลูกเร็วกว่าปกติ เมื่อฝนตกเร็ว เกษตรกรก็มีแรงจูงใจ เพราะโดยปกติแล้วนั่นหมายถึงว่าจะเป็นฤดูกาลที่ดี พวกเขาก็เลยกู้เงินและทำการเพาะปลูก สามสัปดาห์หลังจากนั้น ไม่มีฝนตกอีกแม้แต่หยดเดียว และพืชผลที่งอกงามอย่างดีในตอนต้น ต่างพากันเหี่ยวเฉาและตายลง เราเป็นผู้จัดหาเงินกู้ของสถาบันธนาคารคนจน ซึ่งเป็นผู้ให้เงินกู้ กับเกษตรกรทั้ง 6,000 คนในพื้นที่นั้น และเราเชิญพวกเขามาและบอกว่า "เห็นไหม เรารู้ว่าจะเกิดภัยแล้งขึ้น เสร็จเราละ เราจะจ่ายเงินให้คุณ 200,000 ยูโร ในตอนท้ายฤดู" พวกเขาพูดว่า "ว้าว นั้นยอดเยี่ยมไปเลย แต่มันสายเกินไป คุณให้เงินเราตอนนี้เลยได้หรือเปล่า เพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้สามารถปลูกใหม่ได้อีกครั้ง จะได้มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวในฤดูกาลนี้" เราก็เลยชักจูงหุ้นส่วนประกันภัยของเรา แล้วปลายเดือนเมษายนปีนั้น เกษตรกรเหล่านี้ก็เพาะปลูกอีกรอบ เราเอาแนวคิดเรื่องการปลูกใหม่ ไปคุยกับบริษัทเมล็ดพันธุ์ และชักชวนให้พวกเขาตั้งราคาต้นทุนประกัน รวมไว้ในเมล็ดพันธุ์แต่ละถุง และในทุกถุง เราใส่บัตรลงไปด้วย บัตรที่มีหมายเลข และเมื่อเกษตรกรเปิดถุง เขาจะส่งข้อความหมายเลขนั้นเข้ามา และหมายเลขเหล่านั้นจะช่วยให้เรา สามารถระบุตำแหน่งของเกษตรกร และช่วยบอกพิกัดบนภาพถ่ายดาวเทียม ดาวเทียมจะวัดโอกาสการเกิดฝน ในสามสัปดาห์ข้างหน้า และหากไม่มีฝนตก เราก็จะเอาเมล็ดพันธุ์ไปให้ใหม่ หนึ่งในคนแรก ๆ (เสียงปรบมือ) เดี๋ยวก่อน ฉันยังไปไม่ถึงตรงนั้น หนึ่งในคนแรก ๆ ที่ได้ประโยชน์จาก การประกันการปลูกใหม่ ก็คือ บอสโค มวินยี เราไปเยี่ยมไร่ของเขาในเดือนสิงหาคมปีนั้น และฉันคิดว่าพวกคุณคงจะเห็นรอยยิ้มบนใบหน้า ตอนที่เขาอวดผลผลิตของเขาให้เราดู เพราะว่ามันทำให้หัวใจของฉันอบอุ่น และทำให้ฉันเข้าใจว่าทำไมการขายประกัน จึงสามารถเป็นเรื่องที่ดี แต่คุณรู้หรือเปล่า เขายืนกราน ให้ถ่ายภาพผลผลิตทั้งหมดของเขา เราก็เลยต้องถอยให้ห่างออกมาอีกไกลทีเดียว ประกันภัยช่วยรักษาพืชผลในฤดูกาลนั้น และฉันเชื่อว่าในวันนี้ เรามีเครื่องมือทุกอย่าง ที่จะทำให้เกษตรกรชาวแอฟริกา สามารถควบคุมชะตากรรมของตัวเองได้ จะไม่มีปีแห่งถ้วยตวงอีก อันที่จริง ฉันกำลังตั้งตารอ อย่างน้อย ปีแห่งการประกันภัยพืชผล หรือปีแห่งการเก็บเกี่ยวอันยิ่งใหญ่ ขอบคุณค่ะ (เสียงปรบมือ)