การพูดถึงการให้อำนาจ (empowerment) นั้นแปลก เพราะเมื่อเราพูดถึงการให้อำนาจ สิ่งที่มีผลต่อเรามากที่สุดคือเรื่องราว ฉันเลยอยากเริ่มด้วยเรื่องราวชีวิตประจำวัน เรื่องจริงของชีวิตหญิงสาวในอินเดีย ตลอดเวลา 27 ปีที่ผ่านมาของชีวิต ฉันอยู่ที่อินเดีย ในเมืองเล็ก 3 เมือง ในเมืองใหญ่ 2 เมือง และมีประสบการณ์หลายครั้ง ตอนฉันอายุ 7 ขวบ ครูสอนพิเศษที่มาที่บ้าน เพื่อสอนวิชาเลข ได้ลวนลามฉัน เขาล้วงมือเข้าไปในกระโปรงฉัน เขาล้วงมือเข้าไปในกระโปรงฉัน และบอกฉันว่า เขารู้วิธีที่จะทำให้ฉันรู้สึกดี ตอนอายุ 17 เด็กผู้ชายคนนึงที่โรงเรียน ส่งอีเมล์กระจายไปทั่ว พูดถึงสิ่งรุนแรงต่างๆ ทางเพศ ที่เขาจะทำกับฉัน เพียงเพราะฉันไม่สนใจเขา ตอนอายุ 19 ฉันช่วยเหลือเพื่อนคนหนึ่ง ที่ถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานกับผู้ชายที่แก่กว่า ให้หลบหนีออกจากการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ตอนอายุ 21 เมื่อฉันกำลังเดินอยู่กับเพื่อน บนถนนตอนบ่ายวันหนึ่ง ผู้ชายคนหนึ่งดึงกางเกงลง แล้วช่วยตัวเองต่อหน้าพวกเรา พวกเราร้องขอความช่วยเหลือ แต่ไม่มีใครช่วย ตอนอายุ 25 ฉันกำลังเดินกลับบ้านตอนเย็น ผู้ชายสองคนบนรถมอเตอร์ไซค์ทำร้ายฉัน ฉันใช้เวลาสองคืนในโรงพยาบาล เพื่อรักษาตัวจากอาการช็อกและบาดแผล ตลอดชีวิตที่ผ่านมาของฉัน ฉันเห็นผู้หญิง ครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ใช้ชีวิตที่ต้องพบเจอกับประสบการณ์แบบนี้ โดยไม่ค่อยพูดถึงมัน สรุปง่ายๆ ก็คือ ชีวิตในอินเดียนั้นลำบาก แต่วันนี้ฉันไม่ได้จะมาพูดเรื่องความกลัวนี้ ฉันจะพูดเกี่ยวกับเส้นทางที่น่าสนใจ เส้นทางการเรียนรู้ที่ความกลัวนี้พาฉันไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2555 ได้เปลี่ยนชีวิตฉัน หญิงสาวคนหนึ่ง นักศึกษาอายุ 23 ปี ได้ขึ้นรถเมล์ในกรุงเดลีกับเพื่อนชายของเธอ บนรถเมล์มีผู้ชายหนุ่มอีก 6 คน ที่คุณอาจจะเจอได้ในทุกๆ วันในอินเดีย เรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น ถูกเอามาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งในสื่อของอินเดียและนานาชาติ หญิงสาวคนนั้นถูกข่มขืนหลายครั้ง ถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยแท่งเหล็กทื่อๆ ถูกทุบตี ถูกกัด และถูกทิ้งไว้ให้ตาย เพื่อนของเธอถูกอุดปาก ถูกทำร้าย และถูกทำให้หมดสติ เธอตายในวันที่ 29 ธันวาคม และช่วงเวลาที่พวกเราส่วนมาก กำลังเตรียมตัวฉลองปีใหม่ อินเดียตกอยู่ในความมืดมิด เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเรา ที่ชายและหญิงในเมืองต่างๆของอินเดีย ได้ตื่นขึ้นมาพบความจริงที่โหดร้าย เกี่ยวกับสถานการณ์ที่แท้จริง ของผู้หญิงในประเทศนี้ เช่นเดียวกับหญิงสาวคนอื่นๆ ฉันรู้สึกกลัวเป็นที่สุด ฉันไม่อยากเชื่อเลยว่า เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้น ในเมืองหลวงของประเทศ ฉันรู้สึกโกรธ และรู้สึกผิดหวัง แต่ที่มากที่สุดคือฉันรู้สึกไร้อำนาจ แต่ก็นั่นแหละ เราจะทำอะไรได้ บางคนเขียนบล็อก บางคนไม่สนใจ บางคนร่วมประท้วง ฉันทำทุกอย่างที่พูดมา เหมือนที่ทุกๆคนทำ เมื่อสองปีที่แล้ว ในสื่อเต็มไปด้วยเรื่องราว เกี่ยวกับการกระทำโหดร้ายต่างๆ ที่ผู้ชายอินเดียสามารถทำได้ พวกเขาถูกเปรียบเทียบเป็นสัตว์ สัตว์ร้ายที่เก็บกดทางเพศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันช่างไม่คาดฝัน ในความคิดของคนอินเดีย จนปฏิกิริยาจากสื่ออินเดีย จากสังคมและนักการเมือง แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครรู้ว่าต้องทำอย่างไร และไม่มีใครต้องการจะรับผิดชอบ มีความคิดเห็นที่ไม่ละเอียดอ่อนจำนวนหนึ่ง ถูกนำเสนอในสื่อ ที่ถูกกล่าวโดยบุคคลที่มีชื่อเสียง เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง โดยทั่วไป ความเห็นแรกเป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ความเห็นที่สองเป็นของผู้นำทางศาสนา และความเห็นที่สามเป็นของ ทนายความฝั่งจำเลย เมื่อหญิงสาวกำลังต่อสู้เพื่อชีวิต และเธอเสียชีวิต ในฐานะผู้หญิงที่เห็นแบบนี้วันแล้ววันเล่า ฉันเหนื่อย ในฐานะนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเรื่องเพศ ฉันได้เขียนโดยละเอียดเกี่ยวกับผู้หญิง แต่ครั้งนี้ ฉันพบว่ามันต่างออกไป เพราะส่วนหนึ่งของฉันค้นพบว่า ฉันเป็นส่วนหนึ่งของหญิงสาวคนนั้นเหมือนกัน และฉันตัดสินใจว่าฉันต้องการจะเปลี่ยน ฉันเลยทำอะไรบางอย่างเอง แบบรีบๆ ฉันเข้าไปในระบบข่าวสารโดยประชาชน ที่เรียกว่าไอรีพอร์ท (iReport) และบันทึกวิดีโอที่พูดถึง สถานการณ์ในบังกาลอร์ ฉันพูดว่าฉันรู้สึกอย่างไร พูดเรื่องความจริงในพื้นที่ และพูดเกี่ยวกับความลำบากในการอยู่อินเดีย ในไม่กี่ชั่วโมง บล็อกถูกแชร์อย่างกว้างขวาง และความคิดเห็นหลั่งไหลเข้ามา จากทั่วโลก ในขณะนั้น ฉันได้รู้บางสิ่งบางอย่าง อย่างแรก เทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องมือ สำหรับผู้หญิงสาวหลายๆ คน เหมือนอย่างฉัน อย่างที่สอง เช่นเดียวกับฉัน ผู้หญิงส่วนมาก ไม่ค่อยใช้เทคโนโลยี แสดงความเห็นของตัวเอง อย่างที่สาม ฉันค้นพบเป็นครั้งแรก ว่าเสียงของฉันก็มีความสำคัญ ดังนั้น ในช่วงเดือนต่อๆ มา ฉันรายงานเกี่ยวกับเหตุการ์ต่างๆ ในบังกาลอร์ ที่ไม่ถูกพูดถึงในสื่อข่าวหลักๆ ในสวนคับเบิน สวนสาธารณะใหญ่ในบังกาลอร์ ฉันเข้าร่วมกับคนกว่าร้อยคน โดยมีผู้ชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งได้แสดงออก ด้วยการใส่กระโปรง เพื่อแสดงว่าเสื้อผ้า ไม่ได้เชื้อเชิญการข่มขืน เมื่อฉันรายงานเหตุการณ์เหล่านี้ ฉันรู้สึกมีเรี่ยวแรง รู้สึกว่ามีช่องทาง ให้ระบายความรู้สึกทั้งหมดที่ฉันมี ฉันเข้าร่วมการชุมนุมที่ศาลากลางของเมือง ที่ๆนักเรียนถือป้ายข้อความอย่าง "ฆ่ามัน แขวนคอมัน" "คุณคงไม่ทำแบบนี้กับแม่หรือพี่สาวน้องสาว" ฉันไปงานรำลึกใต้แสงเทียน ที่ประชาชนมารวมตัวกัน เพื่อพูดเรื่องความรุนแรงทางเพศอย่างเปิดเผย และฉันก็บันทึกในบล็อกหลายครั้ง เกี่ยวกับความน่าเป็นห่วงของสถานการณ์ ในอินเดีย ณ ขณะนั้น ["ฉันมีพี่สาวน้องสาว และลูกพี่ลูกน้องที่อยู่ในเมือง และต่างประเทศ แต่ไม่มีใครบ่นหรือพูดถึงปัญหา ในชีวิตประจำวันอย่างที่คุณบอกเลย"] เสียงสะท้อนที่เกิดทำให้ฉันสับสน ในขณะที่ความคิดเห็นให้กำลังใจ หลั่งไหลเข้ามาจากทั่วโลก ความเห็นที่โหดร้ายก็เข้ามาเช่นกัน บางคนว่าว่าฉันปากว่าตาขยิบ บางคนเรียกฉันว่าเหยื่อ ที่แก้ต่างให้การข่มขืน บางคนว่าแม้กระทั่งว่า ฉันมีเป้าหมายทางการเมือง แต่ความคิดเห็นนี้ค่อนข้างอธิบายได้ดี เกี่ยวกับสิ่งที่เราพูดถึงวันนี้ แต่ฉันกำลังจะได้รู้ว่านี่ไม่ใช่ทั้งหมด ถึงแม้ฉันจะรู้สึกมีอำนาจ ด้วยเสรีภาพที่ ช่องทางข่าวสารโดยประชาชนได้ให้ฉัน ฉันก็ยังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ฉันเข้าเฟซบุ๊ก ขณะที่ฉันกำลังเลื่อนดูฟีดข่าว ฉันก็เจอลิงค์ ที่เพื่อนๆ ของฉันแชร์มา ฉันคลิกลิงค์นั้น และมันพาฉันไปที่ บทความที่เขียนโดยเด็กสาวอเมริกาคนหนึ่ง ชื่อว่ามิเคลา ครอส บทความนั้นมีหัวข้อว่า "อินเดีย: เรื่องที่คุณไม่เคยอยากได้ยิน" ในเนื้อความ เธอเล่าประสบการณ์ที่เธอ ถูกล่วงละเมิดทางเพศในอินเดีย เธอเขียนว่า "มันไม่มีทางที่จะ เตรียมรับมือได้เลยกับสายตา สายตาที่จ้องมาทุกๆ วัน ที่แสดงสิทธิ์ในร่างกายของฉัน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสีหน้า ไม่ว่าฉันจะสบตาพวกเขาหรือไม่ ไม่ว่าจะเดินไปร้านขายผลไม้หรือร้านตัดเสื้อ ฉันโดนจ้องเขม็ง จนเหมือนมันจะเฉือนฉันออกมาได้เป็นชิ้นๆ" เธอเรียกอินเดียว่าสวรรค์ของนักเดินทาง และนรกของผู้หญิง เธอเล่าว่าเธอถูกสะกดรอยตาม ถูกลูบไล้ และถูกแสดงการช่วยตัวเองให้เธอเห็น ตกเย็นวันนั้น สิ่งที่เธอเขียนกลายเป็นกระแส ถูกพูดถึงโดยช่องทางข่าวสารต่างๆ ทั่วโลก ทุกๆ คนพูดถึงมัน และมีคนเห็นกว่าล้านคน มีคนให้ความเห็นและส่งต่อเป็นพัน และฉันพบว่าฉันกำลังเป็นพยาน ในเหตุการณ์ที่คล้ายเดิม สื่อตกอยู้ในวงจรอุบาทว์ ของความคิดเห็นและการระเบิดอารมณ์ โดยไม่มีผลลัพธ์ ในคืนนั้น ในขณะที่ฉันกำลังนั่งสงสัย ว่าฉันจะตอบสนองอย่างไรดี ฉันพบว่าตัวเองเต็มไปด้วยข้อสงสัย ในฐานะนักเขียน ฉันมองเรื่องนี้ แบบตัวเองเป็นผู้สังเกตการณ์ ในฐานะคนอินเดีย ฉันรู้สึกอาย และไม่อยากเชื่อ ในฐานะนักเคลื่อนไหว ฉันเป็นผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิ แต่ในฐานะนักข่าวพลเมือง ฉันรู้สึกอ่อนแอขึ้นมาทันที คือเธอเป็นหญิงสาวคนหนึ่ง ที่ใช้ช่องทางเพื่อพูดถึง ประสบการณ์ของเธอ เหมือนที่ฉันเคยทำ แต่ฉันก็ยังรู้สึกไม่สบายใจ ไม่เคยมีใครบอกคุณว่า การให้อำนาจที่แท้จริงนั้น มาจากการให้ตัวคุณเอง ให้ซึ่งสิทธิ์ในการคิดและแสดงออก การให้อำนาจมักจะถูกทำให้ฟังเหมือนกับ มันให้จะผลลัพธ์ที่ดีเลิศ เมื่อเราพูดถึงการให้อำนาจ เรามักพูดถึงการให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูล ให้เข้าถึงเครื่องมือ แต่ที่จริงแล้ว การให้อำนาจนั้น เป็นเรื่องของความรู้สึก รู้สึกว่าเรามีอำนาจ ก้าวแรกในการมีอำนาจ ก็คือการให้อำนาจแก่ตัวคุณเอง ให้กุญแจเพื่อไขเปิดความต้องการของคุณเอง และสำหรับผู้หญิงในทุกๆ ที่แล้ว ไม่ว่าเราจะเป็นใครหรือมาจากไหน นั่นเป็นก้าวที่ยากที่สุด เรากลัวเสียงของเราเอง เพราะมันหมายถึงการยอมรับ แต่นั่นแหละ มันคือการ ให้พลังแก่เรา เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ในสถานการณ์ที่ฉันกำลังเผชิญอยู่นั้น ด้วยความที่มีความจริงหลากหลายแบบ ฉันไม่แน่ใจว่าจะตัดสินมันอย่างไร เพราะฉันไม่รู้ว่ามัน จะหมายความว่าอย่างไรต่อตัวฉัน ฉันกลัวที่จะตัดสินเพราะว่า ฉันไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าฉันคิดไม่เหมือนเด็กสาวคนนี้ ฉันไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร ถ้าฉันโต้แย้งความจริงของคนอื่น แต่ที่จริงแล้ว มันก็ง่าย ฉันแค่ต้องตัดสินใจว่า จะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่พูด หลังจากที่ได้ไตร่ตรอง ฉันได้อัดบล็อกวีดีโอเพื่อแสดงความเห็น และฉันบอก มิเคลา ว่า อินเดียนั้นมีหลายด้าน และฉันก็พยายามอธิบาย ว่ามันจะไม่เป็นไร และแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เธอได้เจอ สองสามวันถัดมา ฉันได้รับเชิญให้ไปพูดคุย ออกอากาศกับเธอ และเป็นครั้งแรก ที่ฉันได้ยื่นมือเข้าไปหาเด็กสาวคนนี้ คนที่ฉันไม่เคยเจอ คนที่เคยอยู่ไกล แต่เป็นคนที่ฉันรู้สึกใกล้ชิดด้วย เมื่อบทความนี้ได้รับความสนใจ หนุ่มสาวจำนวนมากกว่าที่เคย เริ่มพูดเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ในมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยที่มิเคลาเรียนอยู่ ให้ความช่วยเหลือที่เธอต้องการ มหาวิทยาลัยยังได้ริเริ่ม การอบรมนักเรียนเพื่อช่วยให้พวกเขา มีทักษะที่จำเป็นเพื่อรับมือ สถานการณ์ที่ท้าทาย เช่น การถูกล่วงละเมิด เป็นครั้งแรกที่ฉันไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ถ้าจะมีอะไรที่ฉันได้เรียนรู้ ในฐานะนักข่าวพลเมือง ในช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมา ก็คือความขาดแคลนของสังคมที่จะค้นพบ ช่องทางที่จะทำให้ได้ยินเสียงของพวกเรา เราไม่ได้ระลึกว่าเมื่อเราลุกขึ้นสู้ เราไม่ได้ทำในฐานะปัจเจกบุคคล แต่เราทำเพื่อชุมชนของเรา เพื่อเพื่อนของเรา พวกเราส่วนมากพูดว่า ผู้หญิงถูกปฎิเสธสิทธิ์ต่างๆ แต่ความจริงคือ บ่อยครั้ง ที่ผู้หญิงปฏิเสธสิทธิ์เหล่านั้นของตัวเอง ในการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ในอินเดีย 95 % ของผู้หญิงที่ทำงานด้านไอที การบิน การโรงแรม และศูนย์บริการทางโทรศัพท์ บอกว่าพวกเธอไม่รู้สึกปลอดภัย เมื่อกลับบ้านคนเดียว หลังเลิกงานดึกหรือตอนกลางคืน ในบังกาลอร์ ที่ที่ฉันอยู่ ตัวเลขนี้คือ 85 % ในพื้นที่ชนบทในอินเดีย หากดูตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ การข่มขืนหมู่ในบุดายุน และการทำร้ายด้วยน้ำกรด ในโอริสสาและอลิการ์ เราต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว อย่าเข้าใจผิด ความท้าทายที่ผู้หญิงต้องเจอ ในการบอกเล่าเรื่องราวนั้นมีจริง แต่เราจะต้องเริ่มติดตาม และพยายามชี้ช่องทาง ในการมีส่วนร่วมในระบบ ไม่ใช่แค่ใช้สื่อแบบสะเปะสะปะ วันนี้ ผู้หญิงมากกว่าที่เคย กำลังลุกขึ้นสู้และตั้งคำถาม กับรัฐบาลอินเดีย และนี่เป็นผลของความกล้านั้น มีจำนวนผู้หญิงมากขึ้นถึง 6 เท่า ที่แจ้งการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และรัฐบาลได้ออก กฏหมายอาญา (แก้ไข) ในปี 2556 เพื่อปกป้องผู้หญิงจากการถูกทำร้ายทางเพศ ก่อนจะจบ ฉันอยากจะบอกว่า ฉันรู้ว่าพวกเราหลายคนในห้องนี้มีความลับ แต่อยากให้เราออกมาพูด ให้เราสู้กับความอายและพูดถึงมันกันเถอะ มันอาจจะเป็นพื้นที่ เป็นสังคม คนที่คุณรัก ใครก็ตาม หรืออะไรก็ตามที่คุณเลือก แต่ให้เรามาพูดกันเถอะ เพราะเป็นความจริงคือ การจะหยุดปัญหานี้ เริ่มต้นจากเราทุกคนเอง ขอบคุณค่ะ (เสียงปรบมือ)