คุณคงเคยได้ยินเรื่องไอคิว ซึ่งเป็นความเฉลียวฉลาดโดยทั่วไป เเล้วถ้าเป็น Psy-Q ล่ะ? คุณรู้มากน้อยเเค่ไหน ว่าอะไรทำให้เราเป็นแบบนั้น เราเก่งเเค่ไหน ในการเดาพฤติกรรมคนอื่น หรือเเม้เเต่ของตัวเราเอง และเราเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยา ผิดไปแค่ไหน เรามาค้นหาคำตอบกัน โดยการนับถอยหลัง เรื่องเข้าใจผิด 10 เรื่องด้านจิตวิทยา เราคงเคยได้ยินมาว่า เมื่อกล่าวถึงจิตวิทยา มันเหมือนกับว่าผู้ชายมาจากดาวอังคาร เเละผู้หญิงมาจากดาวศุกร์จริง ๆ เเต่ความจริงแล้วชาย-หญิงต่างกันแค่ไหน เเละเพื่อหาคำตอบ เราจะเริ่มโดยการดูอะไรสักอย่าง ที่ผู้ชายเเละผู้หญิงเเตกต่างกันจริง ๆ เเละพลอตกราฟที่เเสดงถึง ความเเตกต่าง ระหว่างเพศ โดยใช้หน่วยเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่ชายเเละหญิง ต่างกันจริง ๆ ก็คือ ความสามารถในการขว้างลูกบอล ฉะนั้น ถ้าเรามาดูตัวเลข ของผู้ชายตรงนี้ เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่า กราฟการเเจกเเจงเเบบปกติ ชายจำนวนไม่เยอะ โยนบอลได้ไกลมาก เเละอีกจำนวนน้อย ก็โยนได้ไม่ไกลเลย เเต่ส่วนมาก โยนได้ปานกลาง สัดส่วนผู้หญิง ก็เหมือนกัน เเต่จริง ๆ มีความต่างกันมาก จริง ๆ ผู้ชายโดยเฉลี่ย สามารถโยนบอลได้ไกลกว่า 98% ของผู้หญิงทั้งหมด ทีนี้เราจะมาดู ความต่างระหว่างเพศ ทางจิตวิทยา ว่าเป็นอย่างไร โดยใช้หน่วยมาตรฐานเดียวกัน นักจิตวิทยาจะบอกเราว่า ชายมีสำนึกเรื่องการกะระยะดีกว่าหญิง เช่น การดูแผนที่เป็นต้น ซึ่งเป็นจริง แต่เรามาดูว่ามีความต่างกันแค่ไหน น้อยนิดเดียว เส้นชิดกันจนเกือบตรงกัน จริง ๆ แล้ว หญิงโดยเฉลี่ย เก่งกว่าชาย 33% และถ้าเลขนั้นขยับเป็น 50% ทั้งสองเพศ ก็เกือบจะเท่ากันเป๊ะ ให้สังเกตว่า ความต่างนี้และอันหน้า ที่จะแสดง เป็นความแตกต่างทางเพศ ที่มากที่สุด ที่เคยพบ ในสาขาจิตวิทยา ครับ นี้เป็นอันต่อไป นักจิตวิทยาจะบอกว่า หญิงเก่งกว่า ในเรื่องภาษาและไวยากรณ์ และนี่เป็นคะแนนสอบไวยากรณ์มาตรฐาน นั่นของผู้หญิง และนั่นของชาย ใช่อีก หญิงเก่งกว่าโดยเฉลี่ย แต่ใกล้กันมาก ชายถึง 33% ก็ยังเก่งกว่าหญิงเฉลี่ย และอีกที ถ้าเลขนั้นขยับเป็น 50% ก็จะไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศเลย ดังนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องดาวอังคาร ดาวศุกร์ แต่เป็นเรื่องขนมมาร์ส และสนิกเกอร์ มันก็เหมือนกัน แค่อีกอันถั่วหน่อยแค่นั้น ตอนทำเค้ก คุณชอบใช้ตำราอาหารที่มีรูปไหม ครับ มีบ้าง หรือชอบให้เพื่อนบอก หรือว่า เริ่มลองทำ ลองผิดลองถูกไป มีหลายคน โอเค ถ้าใครเลือกข้อแรก นั่นหมายความว่าเราเรียนรู้โดยใช้ตา และเรียนได้ดีทีสุด เมื่อข้อมูลเห็นได้ทางตา ถ้าเลือกข้อ 2 นั่นหมายความว่า เราเรียนรู้ทางหู และเรียนรู้ได้ดี เมื่อมีข้อมูลเป็นเสียง ถ้าเลือกข้อ 3 นั่นหมายถึง เราเรียนรู้ทางการสัมผัส และเราเรียนได้ดี เมื่อต้องทำอะไรด้วยมือ ยกเว้นเรื่อง ... คงจะเดาออกแล้วว่า ไม่ได้หมายเช่นนั้น เพราะว่า มันเป็นแค่เรื่องพูดต่อ ๆ กัน สไตล์การเรียนรู้ เป็นเรื่องกุขึ้น ที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน ทางวิทยาศาสตร์ เรารู้ได้ เพราะว่า ในงานทดลอง ที่ควบคุมอย่างเข้มงวด ที่มีการให้ประเด็นการศึกษา ในสไตล์ที่ตนชอบ หรือตรงกันข้าม การจำข้อมูลได้ ไม่มีความแตกต่างเลย และถ้าลองพิจารณาสักครู่หนึ่ง ก็จะเห็นชัดว่า นี้ต้องเป็นจริง มันชัดเจนว่า วิธีการแสดงข้อมูลที่ดีที่สุด ไม่ได้ขึ้นอยู่กันเรา แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังศึกษาอะไร ยกตัวอย่างเช่น เราเรียนขับรถได้ไหม โดยแค่ฟังว่า เราต้องทำอะไร โดยไม่ต้องจับอะไรเลย แล้วเราแก้สมการหลายชั้น ได้หรือไม่ โดยคิดแต่ในหัว โดยไม่ต้องเขียนอะไร สามารถผ่านการสอบทางสถาปัตย์ได้หรือไม่ โดยใช้วิธีการเต้นรำ ถ้าคุณเรียนรู้โดยการสัมผัส ไม่ได้ เราต้องจับคู่สิ่งที่จะศึกษา กับวิธีให้ข้อมูล ไม่ใช่กับเรา ผมรู้ว่าพวกคุณหลายคนเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ซึ่งพึ่งจะได้ผลการสอบ GCSE และถ้าไม่ได้คะแนนตามเป้าหมาย คุณโทษสไตล์การเรียนตัวเองไม่ได้หรอก แต่คุณอาจหันไปโทษยีนของคุณได้ เรื่องนี้มีอยู่ว่า งานวิจัยเร็ว ๆ นี้ ที่ University College London พบว่า ผลแตกต่างที่ได้ประมาณ 58% ระหว่างนักเรียน ในเรื่องผลสอบ GCSE มาจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ตัวเลขนั้นฟังดูแม่นยำมาก แล้วรู้ได้อย่างไร คือเมื่อเราต้องการที่จะแยกปัจจัย ที่มาจากยีนหรือจากสิ่งแวดล้อมออกจากกัน เราจะศึกษาเด็กแฝด แฝดเหมือนจะอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่เหมือนกัน 100% และมียีนเหมือนกัน 100% ส่วนแฝดต่าง จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมือนกัน 100% แต่เหมือนกับพี่น้องทั่วไป จะมียีนเหมือนกันเพียง 50% ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบผลสอบ GCSE ของแฝดเหมือน กับแฝดต่าง แล้วคิดเลขเจ๋ง ๆ สักหน่อย เราก็จะแยกได้ว่า ผลการสอบที่ออกมา มีเหตุจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเท่าไร และมาจากปัจจัยเรื่องยีนเท่าไร ซึ่งผลก็คือประมาณ 58% มาจากยีน นี่ไม่ได้หมายความว่างานหนัก ที่คุณกับครูลงมือลงแรงไม่สำคัญนะครับ ถ้าผล GCSE ออกมาไม่ได้อย่างที่คุณต้องการ คุณก็หันไปโทษพ่อแม่ หรืออย่างน้อย ก็ยีนของพ่อแม่ได้ แต่สิ่งที่ไม่ควรโทษ ก็คือ การเป็นคนที่เรียนรู้ ด้วยสมองซีกซ้ายหรือซีกขวา เพราะว่าอันนี้ก็พูดต่อ ๆ กันมาเหมือนกัน สิ่งที่พูดกันก็คือ สมองซ้ายมีเหตุผล เก่งในการแก้สมการเช่นนี้ และสมองขวา มีความคิดสร้างสรรค์ จึงเก่งกว่าในด้านดนตรี แต่นี่ก็เป็นตำนานเรื่องเล่าเหมือนกัน เพราะแทบทุกอย่างที่เราทำ ต้องอาศัยแทบทุกส่วนในสมอง ติดต่อประสานงานกัน แม้แต่เรื่องธรรมดาที่สุด เช่น คุยกันธรรมดา ๆ แต่เหตุที่เรื่องนี้ยังพูดกันอยู่ ก็เพราะว่ามีความจริงบ้างเล็กน้อย มีอีกเรื่องที่เกี่ยวกันคือ คนถนัดซ้ายคิดสร้างสรรค์ ดีกว่าคนถนัดขวา ซึ่งเหมือนมีเหตุผล เพราะว่า สมองควบคุมมือ ด้านละข้าง ดังนั้น ในคนถนัดซ้าย สมองขวาจะทำงานมากกว่า สมองซ้าย และแนวคิดก็คือ สมองขวาสร้างสรรค์ดีกว่า แต่ว่า นี่ไม่จริงโดยตรง ว่าคนถนัดซ้ายมีความคิดสร้างสรรค์กว่า คนถนัดขวา เรื่องที่จริงก็คือ คนถนัดสองมือ หรือคนที่ใช้ทั้งสองมือ ในการทำสิ่งต่าง ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ดีกว่าคนถนัดมือเดียว เพราะว่า จะถนัดสองมือได้ สมองสองข้างต้องสื่อสารระหว่างกันมาก ซึ่งดูเหมือนจะมีบทบาท ในการสร้างความคิดที่ยืดหยุ่นได้ เรื่องคนถนัดซ้ายมีความคิดสร้างสรรค์ มาจากความจริงว่าคนถนัดซ้าย ใช้สองมือได้มากกว่าคนถนัดขวา ความเชื่อนี้จึงมีความจริงปนอยู่นิดหน่อย แต่ไม่มาก ความเชื่อประมาณนี้ที่คุณอาจเคยได้ยิน คือ เราใช้เพียงแค่ 10% ของสมอง นี่เป็นเพียงความเชื่อปรัมปรา ทุกอย่างที่เราทำ แม้เรื่องธรรมดาที่สุด ใช้เกือบทุกส่วนในสมองของเรา แม้เป็นเช่นนี้ แต่ก็จะต้องกล่าวด้วยว่า เราส่วนมากใช้สมองได้ ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อเพิ่มพลังสมอง บางที เราอาจจะควรฟังดนตรีของโมซาร์ท เคยได้ยินเรื่องปรากฏการณ์โมซาร์ทไหม เป็นแนวคิดที่ว่า ฟังดนตรีโมซาร์ทแล้วจะทำให้ฉลาดขึ้น และผลคะแนนทดสอบไอคิวจะสูงขึ้น ก็อีกแหละความเชื่อนี้น่าสนใจตรงที่ ก็คือ แม้ว่าจะเป็นเพียงความเชื่อ แต่ก็มีความจริงแฝงนิดหน่อย งานศึกษาดั้งเดิมพบว่า คนที่ฟังดนตรีโมซารท์ก่อนเป็นเวลา 2-3 นาที ก่อนทำการทดสอบไอคิว จะทำคะแนนได้ดีกว่า ผู้ทดสอบที่นั่งอยู่เงียบ ๆ แต่งานศึกษาติดตามต่อมา ทดสอบคนที่ชอบดนตรีโมซาร์ท และคนอีกลุ่มหนึ่ง ที่เป็นแฟนนิยายสยองขวัญ ของสตีเฟน คิง โดยให้ฟังดนตรี หรือฟังนิยาย คนที่ชอบดนตรีโมซารท์มากกว่านิยาย ได้คะแนนเมื่อฟังดนตรี ดีกว่าเมื่อฟังนิยาย แต่คนที่ชอบนิยายมากกว่าดนตรี ก็ทำคะแนนได้ดีขึ้น เมื่อฟังนิยายของสตีเฟน คิง ดีกว่าเมื่อฟังดนตรี ดังนั้น ความจริงก็คือ การฟังสิ่งที่เราชอบฟัง จะกระตุ้นเราหน่อยหนึ่ง และเพิ่มระดับไอคิวชั่วคราว ในงานเฉพาะบางอย่าง ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า การฟังดนตรีโมซาร์ท หรือแม้แต่ฟังนิยายของสตีเฟน คิง จะทำให้เราฉลาดขึ้นในระยะยาว ความเชื่อเรื่องการฟังโมซาร์ทอีกเรื่องนึง คือการฟังโมซาร์ทไม่เพียงทำให้คุณฉลาดขึ้น อย่างเดียว แต่ทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วย แย่หน่อยที่อันนี้ก็ไม่จริง สำหรับคนที่ฟังดนตรีโมซาร์ททุก ๆ วัน เช่น ตัวโมซาร์ทเอง ก็ทนทุกข์กับโรคหนองใน ฝีดาษ ข้ออักเสบ และโรคที่เชื่อกันว่าคร่าชีวิตของเขา คือซิฟิลิส นี่แสดงว่าโมซาร์ทน่าจะระมัดระวังสักหน่อย เมื่อเลือกคู่นอน แล้วเราล่ะ เลือกคู่กันอย่างไร ความเชื่อนี้ เป็นเรื่องที่นักสังคมวิทยาคุยกัน คือเราเลือกคู่รักอย่างไรนั้น ขึ้นกับว่าเรามาจากวัฒนธรรมใด เป็นเรื่องวัฒนธรรมใครวัฒนธรรมมัน อยู่มาก แต่จริง ๆ แล้ว ไม่มีข้อมูลตัวเลขที่สนับสนุนเรื่องนี้ งานวิจัยดังชิ้นหนึ่ง สำรวจคนจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ตั้งแต่อเมริกันยันซูลู ดูว่าเขามองหาคู่กันยังไง และในทุก ๆ วัฒนธรรมทั่วโลก ชายให้คุณค่ากับ เสน่ห์ทางกายของคนที่จะมาเป็นคู่ มากกว่าหญิง และในทุก ๆ วัฒนธรรม หญิงให้ความสำคัญกับความทะเยอทะยาน และความสามารถในการหาเลี้ยงชีพ มากกว่าชาย และในทุก ๆ วัฒนธรรมอีกเช่นกัน ชายชอบหญิงอายุน้อยกว่าตน โดยเฉลี่ย ผมจำได้ว่า 2.66 ปี และในทุกวัฒนธรรมอีกเช่นกัน หญิงชอบชายที่มีอายุมากกว่าตน โดยเฉลี่ย 3.42 ปี ทำให้เรามีคำกล่าวว่า "ใคร ๆ ก็อยากมีเสี่ยเลี้ยง" (เสียงหัวเราะ) จากการทำคะแนนหาคู่ ตอนนี้เราจะไปต่อ เรื่องการทำคะแนนในเกมบาสเกตบอล หรือฟุตบอล หรือกีฬาใด ๆ ที่คุณชอบ ความเชื่อก็คือ นักกีฬาจะมีช่วงมือขึ้น ซึ่งคนอเมริกันเรียกว่า "hot-hand streaks" และเราคนอังกฤษเรียกว่า "purple patches" เป็นช่วงที่นักกีฬาจะไม่พลาดเป้า เหมือนกับชายคนนี้ แต่จริง ๆ แล้ว เมื่อมาวิเคราะห์รูปแบบ ของการได้และการพลาดตามสถิติ จะพบว่า เป็นเรื่องสุ่มหรือบังเอิญ เกือบทั้งหมด แต่สมองเรา จะสร้างรูปแบบจากเรื่องบังเอิญ ถ้าเราโยนเหรียญ จะมีบ้างที่ออกหัวหรือก้อยติด ๆ กัน ในลำดับสุ่มนั้น และเพราะว่า สมองชอบมองหารูปแบบ แม้ว่าจะไม่มีรูปแบบก็ตาม เราเห็นลำดับติด ๆ กันเราก็ชิงตีความ และสรุปว่า "วันนี้เขาฟอร์มดีมาก" ทั้ง ๆ ที่เราจะเห็นรูปแบบ แบบเดียวกันนั่นแหละ หากยิงเข้าเป้าหรือพลาดเป้าไปเรื่อย แต่มีข้อยกเว้นอย่างหนึ่ง คือตอนยิงลูกโทษ มีงานศึกษาเร็ว ๆ นี้ ที่ศึกษาเรื่องการยิงลูกโทษในกีฬาฟุตบอล แสดงให้เห็นว่านักกีฬาจากประเทศ ที่มีประวัติยิงลูกโทษไม่ค่อยเข้า เช่น ประเทศอังกฤษ มักจะรีบ ๆ ยิง มากกว่า นักเตะประเทศที่มีประวัติดีกว่า จึงเชื่อได้เลยว่า มีโอกาสพลาดมากกว่า ซึ่งนำไปสู่คำถามว่า มีวิธีที่เราจะเพิ่ม ประสิทธิภาพของคนได้หรือไม่ และสิ่งหนึ่งที่คุณอาจจะคิดขึ้นได้ก็คือ ถ้าทำพลาดจะถูกทำโทษ แล้วดูว่าจะดีขึ้นไหม แนวคิดนี้ที่ว่า ผลการลงโทษช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ผู้ร่วมทดลองคิดว่า ตนกำลังศึกษา ในการทดลองมีชื่อของมิลแกรม เรื่องการเรียนรู้และการลงโทษ หากคุณเป็นนักศึกษาจิตวิทยา คุณคงรู้จัก เรื่องก็คือ ผู้ร่วมทดลองพร้อมที่จะปล่อย กระแสไฟฟ้าที่ตนคิดว่าแรงจนฆ่าคนได้ ไปช็อคผู้ร่วมการทดลองด้วยกัน ถ้าพวกเขาตอบคำถามผิด เพราะว่าคนเสื้อขาวบอกให้ทำ แต่เรื่องนี้เป็นเพียงแค่เรื่องเล่า โดยสามสาเหตุ เรื่องแรกที่สำคัญที่สุด คือ สีเสื้อในห้องทดลองไม่ใช่สีขาวแต่เป็นสีเทา เรื่องที่สองคือ มีการบอกผู้ร่วมทดลองล่วงหน้าก่อนแล้ว และเตือนว่าทุกครั้งที่พวกเขาเกิดความกังวล ว่าแม้การช็อคไฟฟ้าจะเจ็บ แต่จะไม่ถึงตาย และจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายถาวรใด ๆ เรื่องสามคือ ผู้ร่วมทดลองไม่ได้ปล่อยกระแสไฟฟ้า เพียงแค่คนที่ใส่เสื้อกาวน์บอกให้ทำ พวกเขาให้สัมภาษณ์หลังงานทดลอง ผู้ร่วมการทดลองทุกคนกล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่า งานศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้และการลงโทษ มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เกิดพัฒนาการที่ยั่งยืน ในวิทยาศาสตร์ เมื่อเทียบกับการเจ็บตัวเล็กน้อยไม่ถึงตาย ที่เกิดกับผู้ร่วมการทดลอง โอเค ผมพูดมาแล้วประมาณ 12 นาที และพวกคุณอาจกำลังนั่งฟังผมไป วิเคราะห์รูปแบบการพูด และอากัปกิริยาของผมไป เพื่อคำนวณว่าจะเชื่อในสิ่งที่ผมพูดไปดีไหม ว่าผมพูดความจริง หรือว่าพูดเท็จ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คุณคงผิดหวัง เพราะว่า แม้เราจะคิดว่าเราจับโกหกได้ จากอากัปกิริยาหรือรูปแบบการพูด หลายปีที่ผ่านมามีการทดสอบ ทางจิตวิทยาเป็นร้อย ๆ ครั้งที่แสดงว่า เราทุกคน รวมทั้งตำรวจและนักสืบ จับโกหกจากท่าทางและการพูดจา กันได้ก็แค่บังเอิญเท่านั้น แต่น่าสนใจว่า มียกเว้นอยู่ข้อหนึ่ง ในการออกสื่อทางทีวีขอให้ค้นหาญาติที่หายไป ง่ายมากที่จะเดาว่า ญาติหายไปจริง หรือความจริงคนที่ออกมาขอร้อง ได้ฆ่าญาติของเขาไปเอง เพราะคนที่ออกมาขอร้องซึ่งเป็นคนหลอกลวง มีแนวโน้มที่จะส่ายหน้าและหันมองไปทางอื่น และพูดผิด ๆ ถูก ๆ ในขณะที่คนที่ขอร้องอย่างจริงใจ มีแนวโน้มที่จะแสดงความหวัง ว่าญาติของเขาจะกลับมาอย่างปลอดภัย และจะหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำรุนแรง เช่น เขาอาจพูดว่า "พรากไปจากเรา" แทนที่จะพูดว่า "ถูกฆ่า" ซึ่งก็พอดี ถึงเวลาที่ผมจะเลิกพูด แต่ก่อนจะเลิก ผมอยากจะใช้เวลา ภายใน 30 วินาทีกล่าวถึง สุดยอดตำนานทางจิตวิทยาที่ครอบงำเรา ที่ว่า จิตวิทยาเป็นเพียงกลุ่มทฤษฎีที่น่าสนใจ ทุกเรื่องให้สิ่งที่ประโยชน์ ทุกเรื่องมีดีให้เรานำไปใช้ สิ่งที่ผมหวังว่า ที่ผมนำเสนอในไม่กี่นาทีที่ผ่านมา แสดงให้คุณเห็นว่ามันไม่จริง สิ่งที่เราควรทำก็คือ ประเมินทฤษฎีจิตวิทยา โดยสังเกตว่า ทฤษฎีพยากรณ์อะไรบ้าง เช่น การฟังดนตรีโมซาร์ท ทำให้เราฉลาดขึ้น หรือเราเรียนรู้ได้ดีขึ้นหากได้รับข้อมูล ที่ตรงกับสไตล์การเรียนรู้ของเรา หรืออะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นการคาดเดา ที่เราสามารถทดสอบได้ด้วยหลักฐาน และวิธีเดียวที่เราจะก้าวไปข้างหน้าได้ ก็คือเทียบการคาดเดาเหล่านี้ กับข้อมูลตัวเลข ที่ไ่ด้มาจากงานทดลองที่มีการควบคุมที่ดี ทำเช่นนี้แล้ว เราจึงจะสามารถค้นพบได้ว่า ทฤษฎีไหนที่มีหลักฐานสนับสนุนมากพอ และทฤษฎีไหน เป็นเพียงแค่ตำนานปรัมปรา ดังเช่นที่ผมยกตัวอย่างให้ฟัง ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)