สวัสดีครับ ผมขอถามคุณผู้ชมสักคำถามหนึ่งนะ ตอนเด็ก ๆ คุณเคยโกหกไหมครับ ถ้าเคย ช่วยยกมือหน่อยได้ไหมครับ ว้าว! นี่เป็นกลุ่มที่ซื่อสัตย์ที่สุด ที่ผมเคยเจอเลย (เสียงหัวเราะ) 20 ปีที่ผ่านมานี้ ผมศึกษาการโกหกของเด็ก ๆ และวันนี้ ผมจะเล่าให้คุณฟัง ถึงการค้นพบบางอย่างที่เราเจอ เริ่มจาก ผมจะเล่าเรื่องของ ริชาร์ด เมสซินา ซึ่งเป็นเพื่อนของผม และเป็นครูใหญ่โรงเรียนประถม วันหนึ่งเขาได้รับโทรศัพท์ ปลายสายพูดว่า "คุณเมสซินาครับ จอห์นนี่ ลูกชายผมจะไม่มาเรียนวันนี้ เพราะเขาป่วยน่ะครับ" คุณเมสซิยาถามกลับว่า "ผมกำลังคุยกับใครอยู่ครับเนี่ย" ปลายสายตอบมาว่า "ผมเป็นพ่อของผมครับ" (เสียงหัวเราะ) เรื่องนี้... (เสียงหัวเราะ) เป็นการสรุปความเชื่อสามอย่างของเรา เกี่ยวกับเด็กและการโกหกได้ดีมาก ข้อแรก คือ เด็ก ๆ เริ่มโกหก หลังจากเข้าโรงเรียนประถม ข้อสอง เด็ก ๆ โกหกไม่เก่งเลย ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ จับโกหกเด็กได้ง่ายมาก และข้อสาม ถ้าเด็ก ๆ โกหกตั้งแต่เล็ก เขาต้องมีลักษณะนิสัยที่บกพร่อง และเขาจะกลายเป็นคนขี้โกหกไปตลอดชีวิต แต่ปรากฎว่า ความเชื่อทั้งสามอย่างนี้ผิดหมด เราเล่นเกมทายคำตอบ กับเด็ก ๆ ทั่วโลก นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ในเกมนี้ เราให้เด็ก ๆ ทายตัวเลขบนบัตร และบอกเขาว่า ถ้าชนะ เขาจะได้รางวัลใหญ่ แต่พอเล่นไปได้ครึ่งทาง เราบอกเด็ก ๆ ว่าขอออกไปข้างนอกสักครู่ และก่อนที่เราจะออกไปจากห้อง เราบอกเด็ก ๆ ว่าอย่าแอบดูคำตอบในบัตรนะ แน่นอนล่ะ เรามีกล้องซ่อนอยู่ในห้อง เพื่อสังเกตทุกการเคลื่อนไหวของเด็ก เพราะความปรารถนาอยากชนะนั้นแรงกล้ามาก เด็ก ๆ มากกว่าร้อยละ 90 แอบดูบัตร ทันทีที่เราออกจากห้อง (เสียงหัวเราะ) แต่คำถามที่สำคัญคือ เมื่อเรากลับมาแล้วถาม ว่าเขาแอบดูหรือเปล่า เด็ก ๆ ที่แอบดูจะสารภาพ หรือจะโกหกเรื่องการละเมิดกติกา เราพบว่า ไม่ว่าจะเพศ ประเทศ ศาสนาไหน เด็กอายุสองขวบ ร้อยละ 30 โกหก ร้อยละ 70 พูดความจริงว่าตนละเมิดกติกา เด็กอายุสามขวบ ร้อยละ 50 โกหก ร้อยละ 50 พูดความจริง เด็กอายุสี่ขวบ มากกว่าร้อยละ 80 โกหก และสี่ขวบขึ้นไป เด็ก ๆ ส่วนมากโกหก คุณคงเห็นแล้วว่า การโกหกเป็นส่วนหนึ่ง ของพัฒนาการตามปกติ เด็กบางคนเริ่มโกหก ตั้งแต่อายุสองขวบ ทีนี้ มาดูรายละเอียดในเด็กเล็ก ๆ กัน ทำไมมีแค่บางคน ไม่ใช่ทุกคนที่โกหก ในการทำอาหาร คุณต้องการส่วนผสมที่ดี เพื่อปรุงอาหารที่ดี การโกหกที่ดี ต้องมีส่วนผสมหลักสองอย่าง ส่วนผสมแรกคือ ทฤษฎีว่าด้วยจิตใจ หรือความสามารถในการอ่านใจผู้อื่น การอ่านใจผู้อื่นคือความสามารถที่จะรู้ว่า ต่างคนต่างมีความรู้ เกี่ยวกับสถานการณ์หนึ่งไม่เหมือนกัน และความสามารถที่จะแยกแยะ ระหว่างสิ่งที่ฉันรู้ กับสิ่งที่เธอรู้ การอ่านใจสำคัญสำหรับการโกหก เพราะพื้นฐานของการโกหกนั้นคือการรู้ว่า คุณไม่รู้ ว่าผมรู้อะไร ดังนั้น ผมจึงโกหกคุณได้ ส่วนผสมหลักอย่างที่สองของการโกหก คือการควบคุมตนเอง นั่นคือ ความสามารถในการ ควบคุมคำพูด สีหน้า และภาษากาย เพื่อให้โกหกได้เนียน และเราพบว่าเด็กเล็ก ๆ ที่มีความสามารถในการอ่านใจคน และการควบคุมตนเองสูง เริ่มโกหกได้เร็วกว่า และโกหกได้เนียนกว่า เห็นได้ว่า ความสามารถสองอย่างนี้ ยังมีความสำคัญสำหรับเราทุกคน ในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี อันที่จริง ความบกพร่อง ในการอ่านใจและควบคุมตนเองนั้น สัมพันธ์กับปัญหาทางพัฒนาการที่ร้ายแรง เช่น โรคสมาธิสั้น และออทิสซึม ดังนั้น ถ้าคุณจับได้ว่า ลูกอายุสองขวบของคุณโกหกเป็นครั้งแรก แทนที่จะตื่นตกใจ คุณควรจะฉลองมากกว่านะ (เสียงหัวเราะ) เพราะมันคือสัญญาณว่า ลูกของคุณมาถึงหลักชัยที่สำคัญอีกขั้นหนึ่ง ของพัฒนาการตามปกติแล้ว ทีนี้ เด็ก ๆ นี่โกหกไม่เก่งหรอก ใช่ไหม คุณคิดว่าคุณจับโกหกของเด็ก ๆ ได้อย่างง่ายดายใช่ไหมครับ ลองดูหน่อยไหมครับ นะ โอเค ผมจะฉายวิดีโอให้คุณดูสองคลิป ในวิดีโอนี้ เด็ก ๆ กำลังจะตอบคำถามผู้วิจัย "หนูแอบดูหรือเปล่า" คุณลองบอกผมนะ ว่าเด็กคนไหนโกหก และเด็กคนไหนพูดความจริง นี่คือเด็กคนแรก พร้อมไหมครับ (วิดีโอ) ผู้ใหญ่: หนูแอบดูหรือเปล่า เด็ก: เปล่า คัง ลี: และนี่คือเด็กคนที่สอง (วิดีโอ) ผู้ใหญ่: หนูแอบดูหรือเปล่า เด็ก: เปล่า คัง ลี: โอเค ถ้าคุณคิดว่าเด็กคนแรกโกหก ยกมือขึ้นครับ ถ้าคุณคิดว่าเด็กคนที่สองโกหก ยกมือขึ้นครับ โอเค ที่จริงแล้ว เด็กคนแรกพูดจริง และเด็กคนที่สองโกหก ดูเหมือนพวกคุณหลายคน จับโกหกเด็กไม่เก่งเลยนะครับเนี่ย (เสียงหัวเราะ) ทีนี้ เราเล่มเกมแบบเดียวกันนี้ กับผู้ใหญ่จากทุกสาขาอาชีพ เราให้เขาดูวิดีโอมากมาย ครึ่งหนึ่ง เด็ก ๆ ในวิดีโอโกหก อีกครึ่งหนึ่งเด็ก ๆ พูดความจริง มาดูกันว่าผู้ใหญ่เหล่านี้ทำได้ดีแค่ไหน เนื่องจากมีเด็กที่โกหก เท่ากับเด็กที่พูดความจริง ถ้าคุณเดาสุ่ม คุณจะมีโอกาสถูก 50% ถ้าคุณตอบถูก 50% แปลว่าคุณจับโกหกไม่เก่งเลยนะ เอาล่ะ เริ่มจากนักศึกษาปริญญาตรี และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์กับเด็ก ๆ ไม่เลย กลุ่มนี้ไม่สามารถจับโกหกเด็ก ๆ ได้ เขาตอบถูกพอ ๆ กับการเดาสุ่ม ทีนี้ แล้วพวกนักสังคมสงเคราะห์ และทนายความของศูนย์คุ้มครองเด็ก ที่ทำงานกับเด็กอยู่ทุกวันล่ะ กลุ่มนี้จะจับโกหกเด็กได้ไหม ก็ไม่ (เสียงหัวเราะ) แล้วผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ศุลกากร และตำรวจ ที่ต้องเจอคนโกหกทุกวันล่ะ เขาจะจับโกหกเด็กได้ไหม ก็ไม่ แล้วคนเป็นพ่อแม่ล่ะ จะจับโกหกเด็กได้ไหม ก็ไม่ แล้วถ้าพ่อแม่จับโกหกลูกของตัวเองล่ะ ก็ไม่ได้อีกล่ะครับ (เสียงหัวเราะ) (เสียงปรบมือ) ทีนี้ คุณอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมการโกหกของเด็กจึงจับได้ยากนัก ผมจะแสดงให้ดูโดยใช้เนธัน ลูกชายของผมเป็นตัวอย่าง นี่คือสีหน้าของเขา เมื่อโกหก (เสียงหัวเราะ) เมื่อเด็ก ๆ โกหก การแสดงออกทางสีหน้าของพวกเขา มักดูเป็นปกติธรรมชาติ แต่เบื้องหลังสีหน้านิ่งเฉยนี้ เด็ก ๆ เกิดอารมณ์มากมาย เช่น กลัว รู้สึกผิด ละอาย และอาจจะลิงโลดใจนิดหน่อยที่โกหกได้ (เสียงหัวเราะ) น่าเสียดายที่อารมณ์เหล่านี้ หายไปไวมาก หรือถูกซ่อนไว้ เราจึงแทบมองไม่เห็น ในห้าปีที่ผ่านมา เราได้พยายามหาทาง เผยอารมณ์ที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ออกมา แล้วเราก็ค้นพบ เรารู้ว่า ภายใต้ผิวหน้าของเรา มีเครือข่ายเส้นเลือดเต็มไปหมด เมื่อเราเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ การไหลเวียนของเลือดบนใบหน้า จะเปลี่ยนไปเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกควบคุม ด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เมื่อดูการเปลี่ยนแปลง ของการไหลเวียนเลือดนี้ เราสามารถเผยให้เห็น อารมณ์ที่ซ่อนอยู่ของผู้คนได้ แต่แย่หน่อยที่การเปลี่ยนแปลงการไหลเวียน เลือดบนใบหน้าที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์นี้ น้อยมากเสียจนเราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพื่อที่จะเผยให้เห็นอารมณ์ ที่อยู่บนใบหน้าผู้คน เราจึงพัฒนาเทคโนโลยี การถ่ายภาพแบบใหม่ขึ้น ที่เราเรียกว่า "การถ่ายภาพผ่านผิวหนัง" เราใช้กล้องวิดีโอบันทึกภาพสีหน้าของคน เมื่อเขาเกิดอารมณ์ต่าง ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ จากนั้นก็ใช้เทคโนโลยี การประมวลผลภาพถ่ายของเรา สกัดภาพการเปลี่ยนแปลง การไหลเวียนเลือดใต้ผิวหนัง เมื่อดูภาพวิดีโอที่ถ่ายผ่านผิวหนัง เราเห็นได้ชัดเลยว่า การไหลเวียนเลือดใต้ผิวหนัง สัมพันธ์กับอารมณ์ที่ซ่อนเร้น และด้วยเทคโนโลยีนี้ ตอนนี้เราสามารถเผยอารมณ์ที่ซ่อนเร้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการโกหกได้ ดังนั้นเราจึงจับโกหกได้ โดยไม่ต้องรุกล้ำร่างกาย ทำจากระยะไกลได้ ไม่แพง ด้วยความแม่นยำประมาณ 85% ซึ่งดีกว่าการเดาสุ่มมาก นอกจากนี้ เรายังค้นพบ ปรากฏการณ์พิน็อคคิโอ ไม่ใช่แบบนี้นะครับ (เสียงหัวเราะ) นี่คือปรากฏการณ์พิน็อคคิโอของจริง เมื่อคนโกหก การไหลเวียนเลือดไปที่แก้มจะลดลง แต่การไหลเวียนเลือดไปที่จมูกจะเพิ่มขึ้น แน่นอนว่า การโกหกไม่ใช่สถานการณ์เดียว ที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ที่ซ่อนเร้น เราจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า นอกจากจับโกหกแล้ว เราจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้อะไรได้บ้าง การประยุกต์ใช้ด้านหนึ่งคือ ในวงการการศึกษา เช่น เทคโนโลยีนี้ อาจช่วยคุณครูคณิตศาสตร์ ระบุว่านักเรียนในชั้นเรียน คนไหนที่กำลังวิตกกังวลสูง เกี่ยวกับหัวข้อที่ครูกำลังสอน ครูจะได้ไปช่วยได้ เรายังสามารถนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพ เช่น ทุก ๆ วันผมสไกป์หาพ่อแม่ของผม ที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันไมล์ และด้วยเทคโนโลยีนี้ ผมไม่เพียงแต่รู้สารทุกข์สุขดิบ ของพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังเฝ้าติดตามดูอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับความเครียด อารมณ์ของเขา ดูว่าเขาเจ็บปวดอะไรหรือเปล่า บางที ในอนาคต มันอาจจะประเมินความเสี่ยงการเกิดหัวใจวาย หรือความดันโลหิตสูงได้ด้วย คุณอาจจะถามว่า เราใช้มันเพื่อเปิดเผยอารมณ์ ของนักการเมืองด้วยได้ไหม (เสียงหัวเราะ) ตัวอย่างเช่น ระหว่างการอภิปรายโต้แย้ง อืม คำตอบคือ ได้ครับ โดยใช้ภาพจากทีวี เราสามารถตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจ อารมณ์ และความเครียดของนักการเมือง และบางที ในอนาคต อาจจะบอกได้ว่าเขาโกหกหรือเปล่า เรายังใช้มันในการวิจัยทางการตลาด เช่น เพื่อค้นหาว่า คนชอบสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ หรือเปล่า เรายังอาจใช้มันในการนัดเดท เช่น เมื่อคู่เดทของคุณยิ้ม เทคโนโลยีนี้ช่วยให้คุณบอกได้ว่า เขาชอบคุณจริง ๆ หรือเปล่า หรือแต่พยายามรักษามารยาท และในกรณีนี้ เธอแค่พยายามรักษามารยาท (เสียงหัวเราะ) เทคโนโลยีการถ่ายภาพผ่านผิวหนัง ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น คงมีการประยุกต์ใช้ในเรื่องใหม่ ๆ ที่ในวันนี้เรายังไม่รู้ อย่างไรก็ตาม อย่างหนึ่งที่ผมมั่นใจ คือ การโกหกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ขอบคุณมากครับ เซี่ย เซี่ย [ขอบคุณครับ] (เสียงปรบมือ)