ชีวิตของพวกเราขึ้นอยู่กับ สิ่งที่เรามองไม่เห็น ถ้าคุณลองนึกถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณได้ดูทีวี ใช้ GPS เปิดดูพยากรณ์อากาศ หรือแม้แต่กินข้าวหรือเปล่าคะ สิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ต้องพึ่งพาดาวเทียม และในขณะที่เราไม่ได้ตระหนัก ถึงบริการต่าง ๆ จากดาวเทียม มันควรได้รับความสนใจจากเรา เพราะมันกำลังทิ้งร่องรอย ที่จะคงอยู่อย่างยาวนาน ในอวกาศที่พวกมันจับจองที่อยู่ ผู้คนทั่วโลกพึ่งพาปัจจัยพื้นฐาน จากดาวเทียมทุกวัน เพื่อหาข้อมูล เพื่อความบันเทิง และเพื่อการสื่อสาร มีการสังเกตการณ์ทางเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและระบบนำทาง ระบบดาวเทียมยังมีบทบาทสำคัญ ในการจัดการการเงินของเราและตลาดพลังงาน แต่ดาวเทียมที่พวกเราใช้กันอยู่ ทุก ๆ วันนี้ มีอายุการใช้งานที่จำกัด เชื้อเพลิงของพวกมันอาจจะหมด พวกมันอาจเสียหาย หรือไม่ก็ถึงแก่เวลา ที่พวกมันจะถูกปลดประจำการ นับจากจุดนี้ ดาวเทียมพวกนี้ จะกลายเป็นขยะอวกาศ ที่เกะกะอยู่ในวงโคจร ฉันอยากให้คุณจิตนาการว่าคุณกำลังขับรถ บนทางด่วน ในวันที่อากาศดีมาก ๆ เพื่อจะไปทำธุระ คุณกำลังฟังเพลง เปิดกระจก รับลมเย็น ๆ ที่พัดผ่านผมของคุณ รู้สึกดีใช่ไหมคะ ทุกอย่างกำลังเป็นไปได้สวย จนอยู่ ๆ รถคุณก็ดับและหยุดนิ่ง อยู่กลางทางด่วน คุณไม่มีทางเลือก นอกจากจะทิ้งรถของคุณไว้ตรงนั้น บนทางด่วน บางทีคุณอาจจะโชคดีพอ ที่จะสามารถนำรถออกจากถนน และไปจอดไว้บนไหล่ทาง เพื่อที่มันจะได้ไม่กีดขวางทางจราจร เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่แล้ว รถของคุณยังมีประโยชน์ และสามารถพึ่งพามันได้ในชีวิตประจำวัน ตอนนี้ มันเป็นแค่เศษเหล็กไร้ประโยชน์ ที่กีดขวางเส้นทางการจราจร คุณลองนึกภาพทางด่วน ที่มีรถเสียจอดอยู่เต็มไปหมด ที่กีดขวางทางของรถคันอื่นดูสิ และนึกถึงเศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่เต็มไปหมด ถ้าเกิดการชนกันขึ้นมา เศษเล็กเศษน้อยเป็นพัน ๆ ก็จะกลายมาเป็นสิ่งกัดขวางอีก และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจดาวเทียม ดาวเทียมที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว มักจะถูกทิ้งไว้ในอวกาศเป็นเวลานาน หรือไม่ก็ถูกบังคับ ให้ขยับไปที่อื่นเป็นการชั่วคราว และยังไม่มีกฎหมายสากลในอวกาศ ที่จะมาบังคับให้พวกเรา จัดระเบียบทำความสะอาดสิ่งเหล่านี้ ดาวเทียมดวงแรกของโลก สปุตนิก 1 ถูกส่งขึ้นไปอวกาศในปี ค.ศ.1957 ในปีนั้น มีการพยายามส่งดาวเทียมขึ้นไป เพียงแค่สามครั้งเท่านั้น หลายปีต่อมา ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งดาวเทียมหลายพันดวงขึ้นไปยังวงโคจร และความถี่ของการปล่อยดาวเทียม ก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณลองนึกถึงความเป็นไปได้ ที่จะมีการปล่อยกลุ่มดาวเทียม 900 กว่าดวง ขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ทีนี้ เราปล่อยดาวเทียม ไปยังวงโคจรที่ต่างกัน ขึ้นอยู่ว่าเราต้องการใช้งานมันเพื่ออะไร หนึ่งในวงโคจรที่มีดาวเทียมมากที่สุด คือวงโคจรต่ำของโลก อาจเพื่อถ่ายภาพพื้นผิวของโลก จากความสูงประมาณ 2,000 กิโลเมตร โดยปกติแล้วดาวเทียมในวงโคจรนี้ ปะทะกับชั้นบรรยากาศตลอดเวลา ทำให้วงโคจรของมันลดต่ำลงเรื่อย ๆ จนดาวเทียมนั้น ถูกเผาไหม้หมดไปในที่สุด ภายในเวลาประมาณสองทศวรรษ อีกวงโคจรที่เรานิยมส่งดาวเทียมไป คือวงโคจรค้างฟ้า ที่อยู่สูงประมาณ 35,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก ดาวเทียมในวงโคจรนี้จะอยู่ในตำแหน่งเดิม เหนือพื้นโลกในขณะที่โลกหมุน ซึ่งทำให้เราสามารถใช้มันเพื่อการสื่อสาร หรือส่งสัญญาณโทรทัศน์ได้ ดาวเทียมในวงโคจรสูงเช่นนี้ อยู่ในตำแหน่งเดิมได้นานนับศตวรรษ และมันก็มีวงโคจรที่เรียกว่า "สุสาน" ซึ่งก็คือวงโคจรสำหรับขยะอวกาศ ที่ซึ่งดาวเทียมจะถูกส่งไป เมื่อหมดอายุการใช้งาน เพื่อไม่ให้พวกมันรบกวน วงโคจรอื่น ๆ ที่กำลังถูกใช้งาน จากดาวเทียมทั้งหมด 7,000 ดวง ที่ถูกปล่อยขึ้นไปตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1950 มีเพียงหนึ่งในเจ็ดเท่านั้น ที่ตอนนี้ยังสามารถใช้งานได้ นอกจากดาวเทียมที่ใช่ไม่ได้แล้ว ยังมีชิ้นส่วนขนาดเท่าลูกแก้วอีกหลายแสนชิ้น และชิ้นส่วนเล็ก ๆ อีกหลายล้านชิ้น ที่โคจรอยู่รอบโลกเช่นกัน ขยะอวกาศเป็นความเสี่ยงต่อภารกิจทางอวกาศ และต่อดาวเทียมที่เราใช้อยู่ทุก ๆ วัน เนื่องจากจำนวนขยะอวกาศเพิ่มขึ้นจนน่ากังวล จึงมีความพยายามทั้งในระดับชาติ และในระดับนานาชาติ ที่จะตั้งมาตรฐานทางเทคนิค เพื่อช่วยให้เราจำกัด การเพิ่มจำนวนของขยะในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น มีคำแนะนำ สำหรับดาวเทียมที่ในวงโคจรต่ำ ว่าจะต้องถูกทำให้ออกจากวงโคจรภายใน 25 ปี แต่นั่นก็ยังเป็นระยะเวลาที่นานมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับดาวเทียม ที่ไม่ได้ใช้งานมาแล้วหลายปี ยังมีคำสั่งสำหรับดาวเทียม ในวงโคจรค้างฟ้าที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ให้ถูกย้ายไปยังวงโคจรสุสาน แต่คำแนะนำพวกนี้ไม่มีผลทางกฎหมายนานาชาติ และเป็นเพียงความเข้าใจว่า มันจะถูกนำไปใช้ผ่านกลไกระดับชาติ คำแนะนำพวกนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว ไม่ได้มีการนำไปใช้ตลอดเวลา และไม่ได้มีผลกับชิ้นส่วนที่อยู่บนวงโคจรแล้ว มันมีเอาไว้เพื่อจำกัดเศษซาก ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตเท่านั้น ขยะอวกาศไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของใคร ทีนี้ อันที่จริงภูเขาเอเวอเรสต์ เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบที่น่าสนใจ ถึงวิธีการใหม่ในการเข้าถึงธรรมชาติของพวกเรา ในฐานะที่มันมักจะได้รับเกียรติอันน่าฉงน ว่าเป็นกองขยะที่สูงที่สุดในโลก หลายศตวรรษหลังจากการพิชิตยอดเขา ที่สูงที่สุดในโลกเป็นครั้งแรก ขยะมากมายที่ถูกทิ้งเอาไว้โดยนักปีนเขา ก็เริ่มสร้างความหนักใจ และคุณอาจเคยอ่านข่าวว่ามีการคาดการว่า เนปาลจะลงมือปราบปรามนักปีนเขา ด้วยการบังคับใช้บทลงโทษ และพันธะสัญญาที่เข้มงวดมากขึ้น แน่นอนล่ะ เป้าหมายก็เพื่อจูงใจนักปีนเขา ให้เก็บกวาดสิ่งที่ตัวเองทำเอาไว้ บางทีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรท้องถิ่น จะจ่ายนักปีนเขาให้เก็บขยะลงมา หรือกลุ่มผู้สำรวจอาจจัดทริปอาสาทำความสะอาด แต่นั่นก็ยังทำให้นักปีนเขาหลาย ๆ คนรู้สึกว่า กลุ่มอิสระที่ทำหน้าที่เหล่านั้นควรจะเป็นตำรวจ มันไม่มีทางออกที่ง่ายและตรงไปตรงมา และแม้แต่ความพยายามที่มีจุดประสงค์ดี ในการอนุรักษ์ ก็มักจะพบกับปัญหา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรที่จะพยายามทำทุกวิถีทาง ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของเรา ที่เราต้องพึ่งพาอาศัย และเช่นเดียวกับเอเวอเรสต์ สถานที่ที่ห่างไกล และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ของสิ่งแวดล้อมในวงโคจร ทำให้การทิ้งขยะเป็นปัญหาที่ท้าทาย แต่เราไม่สามารถที่จะทำให้มากไปกว่านี้ได้ และยังทำให้กองขยะที่อยู่นอกโลกนั้น ใหญ่ขึ้นมากกว่าเดิม มันเป็นเรื่องจริงที่ว่า ในอวกาศนั้น ถ้ามีส่วนประกอบของดาวเทียมหลุดออกมา ก็เป็นการยากที่จะมีโอกาสได้รับการซ่อมแซม และมันก็ต้องใช้เงินมากด้วย แต่ถ้าเราสามารถ ออกแบบดาวเทียมได้ชาญฉลาดกว่านี้ล่ะ จะเป็นอย่างไรถ้าหากดาวเทียม ไม่ว่ามันจะถูกสร้างในประเทศใดก็ตาม จะต้องอยู่ภายใต้มาตราฐานในแนวทางเดียวกัน ในการนำกลับมาผลิตซ้ำ ซ่อมบำรุง หรือการนำออกจากวงโคจร จะเป็นอย่างไรถ้ามีกฎหมายนานาชาติ ที่มีเขี้ยวเล็บ ที่จะสามารถบังคับให้กำจัดดาวเทียม เมื่อมันสิ้นอายุการใช้งาน แทนที่จะเคลื่อนมันออกไปให้พ้นทาง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแบบชั่วคราว หรือบางทีผู้ผลิตดาวเทียม อาจต้องจ่ายเงินมัดจำ เพื่อที่จะส่งดาวเทียมไปยังวงโคจร และเงินมัดจำนั้นจะได้คืนก็ต่อเมื่อ ดาวเทียมนั้นถูกกำจัดอย่างเหมาะสม หรือถ้าพวกเขาล้างโควต้าบางส่วน ของขยะอวกาศได้ หรือบางทีดาวเทียมอาจต้องมีเทคโนโลยีบนนั้น เพื่อช่วยในการเคลื่อนออกจากวงโคจร มีสัญญาณในเชิงบวกอยู่บ้าง เช่น TechDemoSat-1ของ สหราชอาณาจักรฯ ที่ปล่อยขึ้นไปในปี ค.ศ. 2014 ถูกออกแบบมาเพื่อให้มันถูกทิ้งได้ เมื่อหมดอายุการใช้งาน โดยใช้ที่ลากจูงอันเล็ก ๆ มันได้ผลเนื่องจากดาวเทียมมีขนาดเล็ก แต่ดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรที่สูงกว่า หรือใหญ่กว่า หรือมีขนาดใหญ่กว่าพอ ๆ กับรถโรงเรียน จะต้องการทางเลือกอื่นในการนำไปทิ้ง ฉะนั้น คุณอาจใช้เลเซอร์พลังงานสูง หรือใช้ตาข่ายหรือโซ่ดึงมันออกมา อาจฟังดูไม่ค่อยเข้าท่าในการแก้ปัญหาระยะสั้น และสิ่งหนึ่งที่น่าจะฟังดูเข้าท่า คือแนวคิดของรถลากในวงโคจรหรือจักรกลอวกาศ ลองนึกดูสิว่าจะเป็นอย่างไรถ้าแขนกล ที่ทำงานลากจูงในอวกาศ จะซ่อมส่วนประกอบที่เสียหายของดาวเทียม ทำให้พวกมันกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง หรือจะเป็นอย่างไรถ้าหากแขนกลเดียวกันนี้ จะช่วยเติมเชื้อเพลิง ให้กับส่วนขับเคลื่อนของยานอวกาศ ที่พึ่งพาการขับเคลื่อนจากพลังงานเคมี เช่นเดียวกันกับคุณ หรือผมอาจเติมเชื้อเพลิงใหักับรถของผม การซ่อมแซมและบำรุงรักษาโดยหุ่นยนต์ อาจช่วยยืดอายุของดาวเทียมนับร้อย ที่โคจรอยู่รอบโลก ไม่ว่าตัวทางเลือกของการนำไปทิ้ง หรือการทำความสะอาดจะเป็นแบบใด นี่ไม่ใช่เพียงปัญหาทางเทคนิค มันยังมีกฎหมายอวกาศและ การเมืองที่ซับซ้อนที่เราจะต้องจัดการ สรุปง่าย ๆ ได้ว่า เรายังไม่พบวิธีการ ที่จะใช้อวกาศได้อย่างยั่งยืน การสำรวจ การพัฒนานวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนวิธีที่เราใช้ชีวิตและทำงาน และสิ่งที่เราทำในฐานะมนุษย์ และในการสำรวจอวกาศ เรากำลังเคลื่อนไป ไกลเกินกว่าขอบเขตของโลก แต่เมื่อเราเข้าสู่ขีดความสามารถใหม่ ในนามของการเรียนรู้และนวัตกรรม เราต้องจำเอาไว้ว่าภาระความรับผิดชอบ ของเราต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้หายไปไหน ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันความแออัด ในวงโคจรต่ำและวงโคจรค้างฟ้า และเราไม่อาจที่จะปล่อยดาวเทียมใหม่ ๆ เพื่อแทนที่ดาวเทียมที่เสียหายไปแล้วได้ โดยปราศจากการทำอะไรบางอย่างก่อน เหมือนกับที่เราไม่อาจทิ้งรถพัง ๆ เอาไว้กลางทางหลวงได้ ครั้งหน้าเมื่อคุณใช้โทรศัพท์ ตรวจดูพยากรณ์อากาศ หรือใช้ GPS ลองคิดถึงเทคโนโลยีดาวเทียม ที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ดูสิ แต่นอกจากนี้ ลองนึกถึงผลกระทบ ที่ดาวเทียมมีต่อสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ โลก และช่วยส่งต่อข้อความ ที่ว่าพวกเราจะต้องช่วยกันลดผลกระทบ วงโคจรโลกนั้นงดงามเกินคำบรรยาย และเป็นช่องทางในการสำรวจของเรา มันขึ้นอยู่กับเราที่จะรักษามันเอาไว้ ขอบคุณค่ะ (เสียงปรบมือ)