(เสียงดนตรี) นี่คือผึ้งที่อยู่ในสวนของผม ที่เบิร์กลีย์ แคลิฟอร์เนีย ผมไม่เคยเลี้ยงผึ้งมาก่อนเลย จนกระทั่งปีที่แล้ว เนชันแนล จีโอกราฟิกให้ผมถ่ายรูป ในสารคดีเกี่ยวกับผึ้ง และผมก็คิดว่าการที่จะถ่ายรูปผึ้งได้สวยๆ นั้น ผมควรเรื่มเลี้ยงผึ้งดูเสียเอง และคุณอาจทราบมาก่อนแล้วว่า ผึ้งนั้นช่วยผสมเกสร หนึ่งในสามของพืชที่เป็นอาหาร และในไม่นานมานี้ ผึ้งนั้นกำลังตกที่นั่งลำบาก ในฐานะที่ผมเป็นช่างภาพ ผมอยากจะให้ทุกคนเห็นว่าปัญหามันเป็นอย่างไร ดังนั้น ผมจะแสดงให้เห็นว่า ผมค้นพบอะไรมาในช่วงปีที่แล้ว เจ้าตัวน้อยขนปุยเหล่านี้ คือผึ้งวัยอ่อน ที่กำลังจะออกจากห้องเพาะพันธุ์ในรังผึ้ง และตอนนี้พวกผึ้งกำลังเผชิญกับ ปัญหาบางประการ อาทิ ยาฆ่าแมลง โรค รวมถึงการสูญเสียถิ่นอาศัย แต่ภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุดนั้น คือไรปรสิตจากเอเชีย เจ้า"วาโรอา" ไรจอมทำลายล้าง เจ้าไรตัวเล็กขนาดหัวเข็มหมุดนี้ จะคืบคลานเข้าไปหาตัวอ่อนผึ้ง แล้วดูดเลือดของผึ้ง ทำให้รังของผึ้งค่อย ๆ ถูกทำลายไป เพราะระบบภูมิคุ้มกันของผึ้งจะอ่อนแอลง ทำให้เสี่ยงต่อความเครียดและโรคผึ้งมากขึ้น ผึ้งนั้นจะอ่อนแอมาก ในขณะที่มันเจริญอยู่ในห้องเพาะพันธุ์ในรัง และผมก็อยากรู้ว่าการเจริญของผึ้ง ในช่วงนั้นมันเป็นอย่างไร ผมเลยร่วมมือกับห้องทดลองผึ้ง ที่มหาวิทยาลัย ยูซี เดวิส และหาทางเลี้ยงผึ้งหน้ากล้องให้ได้ เดี๋ยวผมจะให้คุณดูว่า ช่วง 21 วันแรกในชีวิตผึ้งเป็นอย่างไร โดยย่อมาให้เหลือแค่นาทีเดียวครับ นี่คือไข่ของผึ้ง ที่ฟักมาเป็นตัวอ่อน และตัวอ่อนที่เพิ่งฟักมานี้ จะว่ายวนอยู่ในห้องของตัวเอง กินเมือกสีขาวที่ผึ้งงานหลั่งออกมาให้ แล้วหัวกับขาของพวกมัน ก็จะค่อย ๆ พัฒนาออกมา เมื่อมันเจริญไปเป็นดักแด้ นี่เป็นช่วงที่มันเป็นดักแด้เหมือนกันครับ และคุณจะเห็นว่ามีตัวไร วิ่งอยู่ในห้องที่ตัวอ่อนอยู่นี้ด้วย แล้วเนื้อเยื่อในร่างกายมันจะจัดเรียงใหม่ เม็ดสีจะค่อย ๆ เจริญในตาของผึ้ง ช่วงสุดท้ายนี้ ผิวของผึ้งจะย่นขึ้น และขนก็จะงอกออกมา (เสียงดนตรี) (เสียงปรบมือ) ตอนครึ่งหนึ่งของวีดีโอที่คุณเห็นนั้น ตัวไรวิ่งอยู่รอบ ๆ ตัวอ่อนของผึ้ง และวิธีที่เกษตรกรจัดการกับพวกไรนี้ คือการใช้สารเคมีกับรังของมันเอง ในระยะยาวแล้ว มันไม่ดีแน่ ดังนั้นนักวิจัยจึงมองหาทางเลือกอื่น ในการควบคุมไรพวกนี้ นี่คือหนึ่งในวิธีเหล่านั้นครับ ในโครงการทดลองเพาะพันธุ์ผึ้ง ที่ห้องทดลองผึ้งของ อย.สหรัฐในบาตอง โรจ นางพญาและผึ้งงานผู้ช่วยเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ปัจจุบันนี้ นักวิจัยพบแล้วว่า ผึ้งบางตัวสามารถจะสู้กับตัวไรได้ นักวิจัยจึงลองเพาะพันธุ์ผึ้งต้านไรพวกนี้ขึ้นมา นี่คือวิธีที่เราเพาะพันธุ์ผึ้งในห้องทดลอง เราทำให้นางพญาสลบ แล้วเราก็ใช้การผสมเทียม โดยเครื่องมือที่แม่นยำมาก ๆ วิธีการนี้ทำให้นักวิจัย สามารถควบคุมพันธุกรรมผึ้งที่ต้องการได้ แต่วิธีก็ต้องแลกมาด้วยบางสิ่ง นักวิจัยประสบความสำเร็จ ในการสร้างผึ้งที่ต้านไรพวกนี้ ในกระบวนการนี้ ผึ้งพวกนี้ ก็จะสูญเสียลักษณะบางอย่างไปด้วย อย่างเช่นความเชื่อง หรือความสามารถในการเก็บน้ำผึ้งในรัง เพื่อจะแก้ปัญหาเหล่านี้ เหล่านักวิจัยได้ร่วมมือกับเกษตรกรฟาร์มผึ้งพานิชย์ นี่คือคุณเบรท เอดี กับรังผึ้ง 72,000 รังของเขา เบรทกับน้องชายทำธุรกิจเลี้ยงผึ้ง ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ อย.สหรัฐก็ได้ให้ผึ้งต้านไร เข้าไปอยู่ร่วมกับฝูงผึ้งของเขา ด้วยความหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาจะสามารถคัดเลือก ผึ้งที่ไม่เพียงแต่ต้านไร แต่ยังมีลักษณะที่เราต้องการอื่น ๆ หลงเหลืออยู่ด้วย การที่พูดอย่างนั้น มันดูเหมือนว่าเราใช้งาน ใช้ประโยชน์จากผึ้งมากเกินไป แต่ความจริงก็คือ เราทำเช่นนั้นกันมาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว เราเอาเจ้าผึ้งพวกนี้ ใส่ลงในกล่อง ทำการเลี้ยงมัน และนั่นคือวิธีตั้งแต่สมัยโบราณ ที่เราใช้เก็บน้ำผึ้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราเริ่มสูญเสียเหล่าผู้ผสมเกสรพื้นบ้าน ผึ้งป่าผู้ผสมเกสรเหล่านี้ และปัจจุบันมีหลายแห่งบนโลก ที่เหล่าผึ้งป่า ไม่สามารถที่จะทนต่อมลพิษ ของการทำเกษตรสมัยใหม่ได้ ดังนั้นพวกผึ้งที่เราเลี้ยงจึงกลายมาเป็น ส่วนหนึ่งของการสร้างอาหารของเรา ฉะนั้น เมื่อคนพูดถึงการรักษาพันธุ์ผึ้ง การตีความของผมต่อสิ่งนี้ก็คือ เราต้องรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับผึ้งเหล่านี้ไว้ และเพื่อที่จะวางแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหานี้ เราต้องเข้าใจถึงชีววิทยาพื้นฐานของผึ้งเสียก่อน และต้องทราบถึงปัจจัยภัยคุกคาม ของผึ้งที่เรามักมองข้ามไปด้วย หรืออาจกล่าวได้ ว่าเราต้องเข้าใจในผึ้งอย่างเจาะลึกนั่นเอง ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)