จะเป็นยังไงล่ะถ้าพืชต่าง ๆ ของเรา สามารถรับรู้ระดับสารพิษในดิน แล้วแสดงระดับสารพิษผ่านทางสีใบของมันได้ จะเป็นยังไงล่ะถ้าพืชเหล่านี้สามารถ ลดสารพิษพวกนั้นที่อยู่ในดินได้ด้วย แล้วจะเป็นยังไงล่ะถ้าพืชเหล่านั้น สามารถงอกบรรจุภัณฑ์ของตัวเองได้ หรือถูกออกแบบให้เก็บเกี่ยวได้ ด้วยเครื่องจักรที่เจ้าของเครื่อง จดสิทธิบัตรไว้เท่านั้นล่ะ จะเป็นยังไงล่ะถ้าการออกแบบทางชีววิทยา ถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการ สินค้าที่ผลิตออกมาครั้งละมาก ๆ โลกแบบนั้นจะเป็นยังไงนะ ฉันชื่อ แอนนี่ ฉันเป็นนักออกแบบ และนักวิจัยที่ MIT Media Lab ที่ที่ฉันเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Design Fiction ที่ค่อนข้างใหม่และมีเอกลักษณ์ ที่ที่พวกเราอยู่ ณ จุดกึ่งกลางระหว่างนิยาย วิทยาศาสตร์กับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และที่ MIT ฉันก็โชคดีที่ได้พบปะ และใช้เวลาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ และได้ศึกษาศาสตร์ล้ำสมัยในทุก ๆ แขนง อย่างเช่น ประสาทชีววิทยาสังเคราะห์ ปัญญาประดิษฐ์ ชีวิตประดิษฐ์ และทุก ๆ เรื่องในนั้นที่เกี่ยวข้อง และตลอดทั่วทั้งรั้วมหาวิทยาลัยนั้น ก็มีนักวิทยาศาสตร์ฉลาดล้ำมากมาย ที่คอยตั้งคำถามทำนองว่า "ฉันจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างไร" และหนึ่งในคำถามที่กลุ่มของฉัน ชอบถามก็คือ "อะไรดีกว่ากัน" อะไรดีกว่าสำหรับฉัน สำหรับคุณ สำหรับผู้หญิงผิวขาว สำหรับผู้ชายที่เป็นเกย์ สำหรับทหารผ่านศึก สำหรับเด็กพิการที่ใช้อวัยวะเทียม เทคโนโลยีนั้นไม่เคยเป็นกลาง มันร่างความเป็นจริงขึ้นมา และสะท้อนบริบทนั้น ๆ คุณพอจะนึกภาพออกไหมว่ามันจะเป็นยังไง กับสมดุลชีวิตการทำงานที่ออฟฟิศของคุณ ถ้าสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็น ปัญหาปกติในวันแรก (เสียงหัวเราะ) ฉันเชื่อว่ามันเป็นหน้าที่ของ ศิลปินและนักออกแบบ ที่จะต้องคอยถามคำถามสำคัญ ๆ ศิลปะคือการมองเห็นและการรู้สึกถึงอนาคต และตอนนี้ก็เป็นช่วงเวลา อันน่าตื่นเต้นที่จะเป็นนักออกแบบ เพราะอุปกรณ์ใหม่ ๆ มากมาย เริ่มเพียบพร้อมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ชีววิทยาสังเคราะห์ พยายามหาทางทำให้ชีววิทยา เป็นปัญหาทางการออกแบบอย่างหนึ่ง และในช่วงของการพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้ ที่ห้องทดลองก็มีคำถามว่า อะไรคือหน้าที่และความรับผิดชอบ ของศิลปิน นักออกแบบ นักวิทยาศาสตร์ หรือนักธุรกิจล่ะ อะไรคือผลกระทบที่ตามมา ของชีววิทยาสังเคราะห์ การดัดแปลงพันธุกรรม และผลกระทบเหล่านั้นจะเปลี่ยนมุมมอง ของเราต่อความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร อะไรคือผลกระทบของมัน ต่อสังคม ต่อวิวัฒนาการ และอะไรคือสิ่งที่ต้องเดิมพันในเกม ๆ นี้ งานวิจัยด้านการออกแบบเพื่ออนาคต ที่ฉันทำอยู่ในขณะนี้ เล่นกับชีววิทยาสังเคราะห์ แต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ผลักดัน ออกมาด้วยอารมณ์ที่มากขึ้น ฉันจึงหมกมุ่นกับเรื่องการรับกลิ่น ในฐานะของพื้นที่ในการออกแบบ และงานวิจัยนี้ก็เกิดขึ้นมาจากแนวคิดที่ว่า มันจะเป็นยังไงนะถ้าเราสามารถ ถ่ายเซลฟีกลิ่นได้ แบบสเมลฟี่น่ะ (smelfie) (เสียงหัวเราะ) มันจะเป็นยังไงนะถ้าเราสามารถ เก็บกลิ่นตัวตามธรรมชาติของเรา แล้วส่งไปให้คนที่เรารักได้ แปลกแต่จริง ฉันไปเจอมาว่านี่เป็นธรรมเนียม อย่างหนึ่งของออสเตรียในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งคู่รักที่ดูใจกันอยู่นั้นจะ หนีบแอปเปิ้ลชิ้นหนึ่ง ไว้ข้างใต้รักแร้ของพวกเขาในขณะเต้นรำ และในตอนจบของงานนั้น ฝ่ายหญิงจะให้แอปเปิ้ลที่หนีบไว้ กับผู้ชายคนที่เธอชอบมากที่สุด และถ้าเขารู้สึกแบบเดียวกับเธอ เขาก็จะยัดแอปเปิ้ลเหม็น ๆ นั้นเข้าปากไป (เสียงหัวเราะ) เป็นที่รู้กันว่า นโปเลียนนั้นเขียน จดหมายรักมากมายไปหาโฌเซฟีน แต่ว่าบางทีหนึ่งในจดหมายที่เป็นที่จดจำมาก ที่สุดอาจเป็นข้อความสั้น ๆ สุดเร่งเร้านี้: "จะถึงบ้านในสามวัน ไม่ต้องอาบน้ำนะ" (เสียงหัวเราะ) ทั้งนโปเลียนและโฌเซฟีน ต่างโปรดปรานดอกไวโอเล็ต โฌเซฟีนฉีดน้ำหอมกลิ่นไวโอเล็ต ถือดอกไวโอเล็ตในวันแต่งงานของเธอกับเขา และนโปเลียนเองก็ส่ง ช่อดอกไวโอเล็ตไปให้เธอ ทุก ๆ ปีในวันครบรอบวันแต่งงาน เมื่อโฌเซฟีนเสียชีวิตลง เขาได้ปลูกต้นไวโอเล็ตไว้ที่หลุมศพเธอ และก่อนที่เขาจะถูกเนรเทศ เขาได้กลับไปที่หลุมศพนั้น เด็ดดอกไม้บางดอก แล้วเก็บมันไว้ ในสร้อยล็อคเก็ตอันหนึ่ง และใส่มันจนวาระสุดท้ายของเขา ฉันพบว่ามันสะเทือนอารมณ์มากทีเดียว ฉันสงสัยว่า ฉันจะดัดแปลงดอกไวโอเล็ต ให้มีกลิ่นเหมือนกับโฌเซฟีนได้หรือไม่ มันจะเป็นยังไง ถ้าไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม ที่คุณไปเยี่ยมหลุมศพเธอ คุณจะได้กลิ่นของโฌเซฟีนในแบบเดียว กับตอนที่นโปเลียนหลงรักเธอ เราจะสามารถออกแบบวิธีไว้ทุกข์แบบใหม่ รวมถึงพิธีรำลึกแบบใหม่ได้รึเปล่า ยังไงซะ เราก็ตัดต่อพันธุกรรม ของพืชผลต่าง ๆ เพื่อให้ทำกำไรได้สูงสุดอยู่แล้วนี่ ไม่ว่าจะพืชผลที่ทนต่อการขนส่ง พืชผลที่เก็บได้นาน ๆ พืชผลที่มีรสหวานแต่ไล่แมลง ที่ในบางครั้งก็ต้องแลกมาด้วย คุณค่าทางโภชนาการที่ลดลง เราจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเดียวกันนี้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางอารมณ์ได้หรือเปล่า ฉะนั้น ที่ห้องแล็บของฉันในตอนนี้ ฉันจึงทำวิจัยอยู่ว่าอะไรทำให้ มนุษย์มีกลิ่นเฉพาะในแบบของมนุษย์ และปรากฏว่ามันค่อนข้างซับซ้อนเลยทีเดียว ปัจจัยต่าง ๆ อย่างเช่น อาหารที่กิน ยาต่าง ๆ รูปแบบการใช้ชีวิต ล้วนส่งผลต่อกลิ่นตัวของคุณ และฉันก็พบว่าจริง ๆ แล้ว เหงื่อส่วนใหญ่นั้นไร้กลิ่น แต่เป็นเพราะแบคทีเรียและจุลินทรีย์ต่างหาก ที่ส่งผลต่อกลิ่นตัวของคุณ อารมณ์ของคุณ อัตลักษณ์ของคุณ และอื่น ๆ อีกมากมาย และยังมีโมเลกุลอีกมากมาย ในทุกรูปแบบที่คุณปล่อยออกมา แต่ทว่าเราสามารถรับรู้ได้ ผ่านทางจิตใต้สำนึกเท่านั้น ดังนั้นฉันจึงจำแนกและเก็บสะสม แบคทีเรียจากบริเวณต่าง ๆ บนร่างกายของฉัน หลังจากได้พูดคุยกับ นักวิทย์คนหนึ่ง เราก็คิดว่า บางทีส่วนผสมที่สมบูรณ์แบบของตัวฉัน คือ กระดูกไหปลาร้า 10% ใต้วงแขน 30% จุดซ่อนเร้นอีก 40% และอื่น ๆ และในบางครั้ง ฉันก็ให้นักวิจัย จากห้องแล็บอื่น ๆ ดมตัวอย่างกลิ่นของตัวฉัน และมันก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่ ได้รู้ว่ากลิ่นของตัวเองเป็นอย่างไร เมื่อสูดดมภายนอกร่างกายของฉัน ฉันได้รับคำตอบมากมาย อย่างเช่น กลิ่นเหมือนดอกไม้ เหมือนไก่ เหมือนคอร์นเฟลก หรือเหมือนเนื้อย่างรมควัน (เสียงหัวเราะ) ในขณะเดียวกัน ฉันก็ได้ ปลูกพืชกินแมลงกลุ่มหนึ่ง เพื่อดูความสามารถในการปล่อยกลิ่น คล้ายเนื้อหนังเพื่อล่อเหยื่อ เพื่อพยายาม แบบว่าสร้าง ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน ระหว่างแบคทีเรียบนตัวของฉัน กับพืชกินแมลงชนิดนี้ แล้วก็มีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้น ฉันอยู่ในบาร์แห่งหนึ่งใน MIT และฉันก็กำลังคุยกับนักวิทยาศาสตร์ ที่บังเอิญเป็นทั้งนักเคมี และนักพฤษศาสตร์ และฉันก็เล่าเรื่องงานวิจัย ของฉันให้เขาฟัง แล้วเขาก็ตอบแบบว่า "อืม นี่มันดูเหมือน พฤกษศาสตร์สำหรับผู้หญิงขี้เหงาเลยนะ" (เสียงหัวเราะ) ฉันตอบอย่างไม่รีรอว่า "โอเค" ฉันท้าเขาว่า "เราสามารถสร้างต้นพืชที่รักฉันตอบได้ไหม" และเพราะอะไรสักอย่าง เขาก็ตอบว่า "ได้สิ ทำไมจะไม่ได้ล่ะ" ดังนั้น เราจึงเริ่มด้วยคำถามที่ว่า เราสามารถสร้างพืชที่เบนเข้าหาตัวฉัน ราวกับว่าฉันเป็นดวงอาทิตย์ได้ไหม ฉะนั้น เราจึงศึกษากลไกของพืช อย่างเช่น การเบนตามแสง (phototropism) ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้พืช เบนเข้าหาดวงอาทิตย์ ด้วยการสร้างฮอร์โมนพวกออกซิน ที่ทำให้เซลล์ยืดตัวตามยาว ในด้านที่มีร่มเงา และในตอนนี้ฉันก็กำลัง สร้างลิปสติกชุดหนึ่ง ที่ถูกนำไปแช่ไว้ในสารเคมีจำพวกหนึ่ง ที่ทำให้ฉันสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับต้นพืชได้ ด้วยคุณสมบัติเฉพาะทางเคมีของมัน ลิปสติกที่ทำให้ต้นพืช โตขึ้นในที่ ๆ ฉันจูบ และทำให้ดอกไม้เบ่งบานขึ้น เมื่อฉันจูบไปที่ดอกตูม และในระหว่างที่ทำการวิจัยเหล่านี้อยู่ ฉันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า เราจะนิยามธรรมชาติอย่างไร เราจะนิยามอย่างไรในเมื่อเราสามารถ ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของมันได้ และเราควรทำแบบนั้นเมื่อไร เราควรใช้มันเพื่อทำกำไร หรือเพื่อประโยชน์ใช้สอย เราสามารถใช้มันเพื่อ ผลลัพธ์ทางอารมณ์ได้ไหม เราสามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสร้างผลงาน ที่เร้าอารมณ์ได้แบบดนตรีหรือไม่ อะไรคือจุดต่อระหว่างวิทยาศาสตร์ และความสามารถของมัน ในการเล่นกับความรู้สึกของเรา มันคือวาทกรรมทางการออกแบบอันโด่งดัง ที่กล่าวว่า "การใช้งานนั้นมาก่อนรูปแบบ" ที่ในตอนนี้อยู่ ณ จุดกึ่งกลางระหว่าง ศาสตร์ การออกแบบ และศิลป์ ฉันจึงได้มีโอกาสถามว่า หรือว่าเรื่องเล่าบ่งบอกข้อเท็จจริงล่ะ ห้องแล็บวิจัยและพัฒนาแบบนั้น จะมีหน้าตาแบบไหนกัน แล้วเราจะถามคำถาม แบบไหนไปด้วยกัน เรามักมองว่าเทคโนโลยีคือคำตอบ แต่ในฐานะที่เป็นศิลปินและนักออกแบบ ฉันอยากจะถามว่า "แล้วคำถามนั้นคืออะไรล่ะ" ขอบคุณค่ะ (เสียงปรบมือ)