ขอความสันติสุขจงเกิดแก่ท่าน ยินดีต้อนรับสู่ โดฮา ผมมีหน้าที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศนี้ งานของผมสองปีข้างหน้า คือวางแผนแม่บททั้งหมด แล้ว 10 ปีต่อมาก็นำไปใช้จริง แน่นอนว่า ผมทำงานนี้ร่วมกับคนอีกมากมาย แต่อันดับแรก ผมต้องเล่าเรื่องหนึ่งให้คุณฟัง ซึ่งก็เป็นเรื่องของผมเอง เรื่องเกี่ยวกับประเทศ ที่ทุกๆท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ในวันนี้ แน่นอนว่า พวกคุณส่วนใหญ่ได้ทานอาหารไปสามมื้อแล้วในวันนี้ และอาจจะยังทานอีกหลังจากงานนี้ เข้าเรื่องดีกว่าครับ กาตาร์ ในปี 1940 เป็นอย่างไร ตอนนั้นมีคนอาศัยอยู่ราว หมื่นหนึ่งพันคนที่นี่ ไม่มีน้ำ ไม่มีพลังงาน น้ำมัน รถ ไม่มีอะไรพวกนั้นเลย คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะอยู่ในหมู่บ้านแถบชายฝั่ง ทำประมง หรือเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ที่เร่ร่อนไปทั่วตามสภาพแวดล้อม พยายามหาแหล่งน้ำ สิ่งสวยงาม ที่ทุกคนเห็นอยู่ตอนนี้ ยังไม่มี ไม่มีเมืองใหญ่ๆเช่นที่คุณเห็นทุกวันนี้ อย่าง โดฮา ดูไบ อาบูดาบี คูเวต หรืือ ริยาดห์ มันไม่ใช่ว่าพวกเขาพัฒนาเมืองขึ้นมาไม่ได้ แต่ไม่มีทรัพยากรที่จะนำมาพัฒนา คุณจะเห็นได้ว่า อายุเฉลี่ยของประชากรก็สั้นด้วย คนส่วนใหญ่เสียชีวิตประมาณอายุ 50 เข้าสู่บทที่สองดีกว่านะครับ ยุคน้ำมัน ปี 1939 เป็นปีที่ขุดพบน้ำมัน แต่น่าเสียดาย ไม่ได้ขุดมาใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่ จนเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มันทำให้เกิดอะไรขึ้นหรือ มันเปลี่ยนคุณลักษณะของประเทศนี้ไป อย่างที่ท่านเห็น และเป็นประจักษ์พยานอยู่ในตอนนี้ มันยังทำให้คนที่เดินทางร่อนเร่ไปทั่วทะเลทราย เพื่อหาแหล่งน้ำ หาอาหาร พยายามเลี้ยงดูปศุสัตว์ของพวกเขา กลายมาอยู่ในเมือง คุณอาจเห็นว่านี่เป็นเรื่องแปลก แต่ในครอบครัวของผม เรามีสำเนียงต่างกัน แม่ผมพูดสำเนียงที่ต่างจากพ่อผมมาก เราเป็นประชากรทั้งหมดประมาณสามแสนคน ในประเทศเดียวกัน แต่ขณะนี้มีสำเนียงพูดราว ห้าหรือหกสำเนียง บางคนถามว่า ทำไมเป็นอย่างนั้น? เพราะเราเคยอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย เราไม่สามารถอยู่แบบรวมกลุ่มกันแน่น เพียงเพราะว่า มันไม่มีทรัพยากร แล้วเมื่อเรามีทรัพยากร คือน้ำมัน เราเริ่มสร้างเทคโนโลยีที่หรูหราเหล่านี้ และพาคนมารวมกัน เพราะเราต้องให้คนมากระจุกกันอยู่ คนเริ่มรู้จักกันและกัน เราพบว่า มีความแตกต่างกันอยู่บ้างในสำเนียงการพูด นี้ก็คือบทที่สอง หรือยุคน้ำมัน ลองมาดูทุกวันนี้กัน นี่น่าจะเป็นเส้นขอบฟ้าของเมืองโดฮา ที่คุณส่วนใหญ่เห็นกัน แล้วจำนวนประชากรทุกวันนี้เป็นเท่าไหร่หรือ หนึ่งจุดเจ็ดล้านคน ในช่วงไม่ถึง 60 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของเราอยู่ที่ประมาณ 15% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 78 ปริมาณการใช้น้ำของเราเพิ่มขึ้นเป็น 430 ลิตร และติดกลุ่มเมืองที่ใช้น้ำมากที่สุดในโลก จากการไม่มีน้ำเลย กลายเป็นเมืองที่ใช้น้ำมากที่สุด มากกว่าประเทศอื่นๆ ผมไม่รู้ว่านี่เป็นปฏิกริยาต่อการขาดนํ้าในอดีตหรือเปล่า แต่อะไรเล่า ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่ผมเพิ่งเล่าไปเมื่อสักครู่ ส่วนที่น่าสนใจก็คือ เรายังคงเติบโตต่อไป 15% ทุกปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยไม่มีน้ำ เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ในอดีตเมืองเคยถูกลบหายไปจนหมดสิ้น เพราะว่าขาดน้ำ แต่นี่คือประวัติศาสตร์ที่ได้ถูกสร้างขึ้น ในภูมิภาคนี้ เราไม่ได้สร้างแค่ตัวเมืองเท่านั้น แต่เราสร้างเมืองพร้อมกับความฝัน และคนที่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นแพทย์ สร้างบ้านสวยๆ นำสถาปนิกมาออกแบบบ้านของผม คนเหล่านี้ยืนกรานว่า นี่เป็นพื้นที่ๆอาศัยอยู่ได้ ทั้งๆที่มันไม่ใช่ แต่แน่ล่ะ เราทำได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี บราซิล ที่มีปริมาณน้ำฝน 1782 มิลลิลิตร ต่อปี กาตาร์ มี 74 แต่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงเท่ากัน คำถามคือ อย่างไร เราจะเอาตัวรอดกันได้อย่างไร เราไม่มีน้ำ จะยังไงก็ตาม แค่เพราะว่า เรามีเจ้าเครื่องยนต์ขนาดยักษ์มหึมาที่เรียกว่า เครื่องแยกเกลือออกจากน้ำทะเล พลังงาน คือปัจจัยหลักของที่นี่ มันเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง มันคือสิ่งที่เราดูดขึ้นมาจากพื้นดิน เราเผามันเป็นตันๆ ค่อนข้างแน่ว่า ทุกคนที่นี่ก็ใช้มันเพื่อมาถึงโดฮา นั่นคือทะเลสาบของเรา ถ้าเราเห็นมันได้ นั่นคือแม่น้ำของเรา นั่นคือสิ่งที่ทำให้ทุกท่านมีน้ำใช้และเพลินกับการใช้นํ้า นี่เป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่ภูมิภาคนี้เคยมี การเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด แล้วความเสี่ยงคืออะไร? ทำไมคุณถึงกังวลนัก? ผมก็จะบอกว่า ลองมาดูข้อเท็จจริงทั้งหลายโดยรวม แน่นอน คุณจะรู้ทันทีว่า ผมต้องกังวล มีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ประชากรที่เพิ่มขึ้น แค่ไม่กี่เดือนมานี้ เรามีประชากรเจ็ดพันล้านคนแล้ว และประชากรเหล่านั้นก็ต้องการอาหารด้วย และยังมีการพยากรณ์ว่า เราจะมีประชากรเก้าพันล้านคน ก่อนปี 2050 ดังนั้นประเทศที่ไม่มีน้ำ จึงต้องกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นนอกชายแดนของตน ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงลักษณะของอาหารที่เราทานด้วย การยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้น ทำให้พวกเขาเปลี่ยนลักษณะการกิน เราเริ่มทานเนื้อมากขึ้น และอื่นๆอีกมาก ในทางตรงกันข้าม เรามีผลผลิตทางการเกษตรน้อยลง เพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และปัจจัยอื่นๆ ดังนั้น ใครสักคนต้องตระหนักว่า ภาวะวิกฤติกำลังจะเกิด นี่คือสถานการณ์ในกาตาร์ สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบ เรามีน้ำที่เก็บสำรองไว้พอใช้แค่เพียงสองวัน เรานำเข้าอาหารของเราประมาณ 90% และเราทำการเกษตรน้อยกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของที่ดินของเรา เกษตรกรจำนวนจำกัดที่เรามี ยังถูกผลักออกมา จากการทำการเกษตรของเขา เพราะผลจากนโยบายเปิดการค้าเสรี ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างมาก และอื่นๆ เราจึงเผชิญกับความเสี่ยงด้วย ความเสี่ยงเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคง และความยั่งยืนของประเทศนี้ คำถามคือ เรามีทางออกหรือไม่? มีทางออกที่ยั่งยืนหรือไม่? แน่นอนว่ามี สไลด์นี้ สรุปเอกสารด้านเทคนิคหลายพันหน้า ที่เราได้ทำกันในช่วงสองปีที่ผ่านมา เริ่มจากเรื่องน้ำก่อนนะครับ อย่างที่ผมให้คุณดูก่อนหน้านี้ เราทราบดีว่าเราต้องการพลังงาน ดังนั้น ถ้าเราจะต้องใช้พลังงาน จะเป็นพลังงานประเภทไหนเล่า? พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป อย่างน้ำมันน่ะหรือ? หรือเราควรจะใช้อย่างอื่น เรามีข้อได้เปรียบที่เทียบเคียงกันได้ ที่จะใช้พลังงานประเภทอื่นหรือไม่ ผมคิดว่า ถึงตอนนี้ผู้ฟังส่วนใหญ่คงทราบดีว่า เรามีแสงแดดอยู่ 300 วัน เราจึงจะใช้พลังงานที่ยั่งยืนนี้เพื่อผลิตนํ้าที่เราต้องการ เราอาจจะติดตั้งพลังงานไฟฟ้า 1,800 เมกะวัตต์ จากแสงแดด ในการผลิตน้ำ 3.5 ล้านคิวบิกเมตร นั่นเป็นปริมาณที่มากมาย น้ำเหล่านั้นจะไปสู่เกษตรกร และเกษตรกรจะสามารถรดน้ำพืชผลของเขาได้ แล้วพวกเขาก็จะสามารถผลิตอาหาร สนองความต้องการของสังคม แต่เพื่อจะรักษาเส้นแนวนอนให้ยั่งยืน เพราะว่าโครงการพวกนี้ หรือระบบที่เราจะนำเสนอ เรายังจำเป็นต้องมีการพัฒนาในแนวตั้งด้วย ได้แก่ การดูแลรักษาระบบ การศึกษาระดับสูง การค้นคว้าวิจัยและพัฒนา อุตสาหกรรม เทคโนโลยี เพื่อนำมาผลิตเทคโนโลยี ที่จะนำมาใช้ และสุดท้ายคือการตลาด แต่สิ่งที่เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน ให้มันเป็นไปได้ ก็คือ นโยบาย และกฏข้อบังคับ ถ้าปราศจากมัน เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ นั่นคือสิ่งที่เราวางแผนที่จะทำ ภายในสองปีนี้ หวังว่าเราควรจะวางแผนเสร็จ และนำแผนไปใช้ เป้าหมายของเราคือ เป็นเมืองหนึ่งที่มีอายุพันปี เช่นเดียวกับเมืองต่างๆรอบๆ เช่น อิสตันบูล โรม ลอนดอน ปารีส ดามัสกัส ไคโร เราอายุเพียง 60 ปี แต่เราอยากจะให้มันคงอยู่ตลอดไป ในฐานะเมือง เพื่ออาศัยอยู่อย่างสันติ ขอบคุณมากครับ (เสียงปรบมือ)