เป็นที่รู้กันว่าความตายและภาษีนั้นหนีไม่พ้น แล้วถ้าเป็นการเน่าเปื่อยล่ะ ใครที่เคยเห็นมัมมี่คงรู้ ชาวอียิปต์โบราณได้ผจญอุปสรรคนานับประการ ในการยับยั้งการเน่าเปื่อย แล้วพวกเขาทำสำเร็จสักแค่ไหน เซลล์ที่มีชีวิตจะสร้างเซลล์ใหม่ๆ ขึ้นทดแทนอยู่ตลอดเวลา เอนไซม์เฉพาะย่อยสลาย ส่วนที่ตายแล้ว และนำวัตถุดิบไปใช้สร้างเซลล์ใหม่ ว่าแต่เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อคนตาย เซลล์ที่ตายแล้วจะไม่สามารถสร้าง เซลล์ทดแทนตัวเองได้อีก แต่เอนไซม์ยังคงทำหน้าที่ย่อยสลายทุกอย่าง ดังนั้น ใครก็ตามที่ต้องการรักษา สภาพร่างกายเอาไว้ จำเป็นต้องพิชิตพวกเอนไซม์เหล่านี้ให้ได้ ก่อนเนื้อเยื่อจะเริ่มเน่า พวกเซลล์ประสาทจะตายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการรักษาสภาพสมอง จึงเกินกำลังของช่างทำมัมมี่ชาวอียิปต์ ซึ่งจากบันทึกของเฮโรโดตุส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก พวกเขาจึงเริ่มขั้นตอน โดยตอกเหล็กแหลมเข้าไปในกะโหลกศีรษะ กวนเนื้อสมองให้เละ แล้วล้างมันออกมาทางจมูก จากนั้นจึงใส่ยางไม้เข้าไปในกะโหลก เพื่อป้องกันการเน่าสลายที่จะตามมา สมองอาจจะเน่าก่อนเพื่อน แต่การเน่าของเครื่องในนั้นเลวร้ายกว่ามาก ตับ กระเพาะอาหาร และลำไส้ มีเอนไซม์ย่อยอาหารและแบคทีเรีย ซึ่งเมื่อเสียชีวิต ก็จะเริ่มกินศพจากภายใน ดังนั้นพวกนักบวชจึงเอาปอดและ อวัยวะในช่องท้องออกมาเป็นลำดับแรก มันยากที่จะเอาปอดออกมาโดยที่หัวใจไม่บอบช้ำ แต่เนื่องจากหัวใจนั้นถูกเชื่อว่า เป็นที่สถิตย์ของดวงวิญญาณ พวกเขาจึงดูแลมันอย่างดีเป็นพิเศษ พวกเขาใส่อวัยวะภายในแยกไว้ในไห เติมเกลือธรรมชาติที่เรียกว่า เนทรอน (natron) ใส่จนเต็ม เกลือเนทรอน ก็เหมือนกับเกลือทั่วไป ที่สามารถยับยั้งการเน่าด้วยการฆ่าแบคทีเรีย และป้องกันเหล่าเอนไซม์ย่อยอาหาร ไม่ให้ทำงานได้ แต่เกลือเนทรอนไม่ใช่เกลือทั่วไป มันคือส่วนผสมของ เกลืออัลคาไลน์สองชนิด โซดาแอช และ เบคกิ้งโซดา เกลืออัลคาไลน์ฆ่าแบคทีเรียได้ดี และยังสามารถเปลี่ยนเยื่อไขมัน ให้มีเนื้อแข็งคล้ายสบู่ จึงรักษารูปร่างศพได้ หลังจากจัดการกับอวัยวะภายในแล้ว พวกนักบวชจะยัดถุงเกลือเนทรอน เข้าไปช่องว่างในลำตัวจนเต็ม และล้างทำความสะอาดฆ่าเชื้อผิวหนัง จากนั้นศพจะถูกนำไปฝังในเกลือเนทรอน ประมาณ 35 วัน เพื่อรักษาสภาพเนื้อภายนอก เมื่อครบกำหนดนำออกมา เกลืออัลคาไลน์จะดูดน้ำออกจากร่าง และรวมตัวกันกลายเป็นก้อนแข็งสีน้ำตาล ศพจะไม่เน่า แต่กลิ่นของมันก็ไม่น่าชื่นชมนัก ดังนั้น นักบวชจะเทยางไม้บนร่างเพื่อผนึกมัน นวดด้วยไขที่ทำจากน้ำมันไม้ซีดาร์ แล้วห่อด้วยผ้าลินิน สุดท้าย พวกเขาวางมัมมี่ลงในโลงเป็นชั้นๆ และบางครั้งก็ถึงกับใช้โลงหิน แล้วชาวอียิปต์โบราณประสบความสำเร็จแค่ไหน ในการยับยั้งการเน่าเปื่อย ในแง่หนึ่ง มัมมี่ไม่ใช่ ร่างกายมนุษย์ที่สมบูรณ์แน่ๆ สมองถูกกวนจนเละแล้วล้างออกมา อวัยวะภายในถูกเอาออกไปหมักเกลือ เหมือนไส้กรอกซาลามี่ ประมาณครึ่งหนึ่งของร่างกายส่วนที่เหลือ ถูกดูดซับน้ำออกจนแห้ง กระนั้น ส่วนที่เหลืออยู่ ก็ถูกรักษาสภาพได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์ แม้เวลาจะผ่านไปนานหลายพันปี นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถผ่าพิสูจน์มัมมี่ เพื่อหาสาเหตุการตาย หรือแม้กระทั่งสามารถสกัดตัวอย่างดีเอ็นเอ ซึ่งทำให้เราได้ทราบข้อมูลใหม่ๆ เช่น ดูเหมือนว่ามลพิษทางอากาศ เป็นปัญหาใหญ่ในยุคอียิปต์โบราณ อาจเป็นเพราะการใช้ไฟในการอบขนมปังในบ้าน โรคหัวใจและหลอดเลือดพบได้บ่อย เช่นเดียวกับ วัณโรค ถือว่าชาวอียิปต์โบราณประสบความสำเร็จ ในการหยุดยั้งการเน่าเปื่อยในระดับหนึ่ง อย่างที่บอกไปว่าความตาย และภาษีนั้นไม่อาจเลี่ยงพ้น เวลาขนย้ายมัมมี่ มันจึงถูกคิดภาษีแบบเดียวกับปลาเค็ม